ธรรมนูญเขาไม้แก้ว ช่วยให้กินอิ่มนอนอุ่น ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

ธรรมนูญเขาไม้แก้ว ช่วยให้กินอิ่มนอนอุ่น ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เผชิญกับวิกฤตการณ์รอบด้านมาเนิ่นนาน แต่สู้ไม่ถอย คิดแก้ไขปัญหา ลดความขัดแย้ง จนพบทางออกด้วยการร่วมมือร่วมใจประยุกต์ใช้ธรรมนูญสุขภาพ
ช่วยขับเคลื่อนจนก้าวพ้นวิกฤติต่าง ๆ มาได้ตลอด 6 ปี แม้ภัยโควิด-19 มา คนเขาไม้แก้วก็ยังกินอิ่มนอนอุ่น

   สวัสดีเพื่อนพี่น้องชุมชนคนเข้มแข็งครับ เรื่องเล่าพลังชุมชนสู้ภัยโควิด 19 ฉบับนี้ “สุชน” จะพาไปตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี กันครับ
 
   ที่ผ่านมาพี่น้องตำบลเขาไม้แก้ว เผชิญกับวิกฤติมาหลายครั้งหลายครา ทั้งปัญหาด้านสังคม คุณภาพชีวิต มีทั้งเรื่องยาเสพติด ผู้ด้อยโอกาสไม่มีที่อยู่อาศัย ปัญหาที่ทำกิน สิ่งแวดล้อมและพื้นที่สาธารณะ มีทั้งโรงงานกำจัดขยะอุตสาหกรรม โรงเผาขยะแผงวงจรอิเลคทรอนิค โรงงานไฟฟ้าชีวมวล นายทุนและชาวบ้านบุกรุกที่สาธารณะ มีฟาร์มหมูมาตั้งติดลำน้ำกับคลองสามบาท แหล่งน้ำสำคัญอุปโภคบริโภคของชาวบ้าน มาคราวนี้ ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พี่น้องที่นี่เขารับมือกับอย่างไร ตามผมไปเยี่ยมชมกันครับ
 
   พี่สุนทร คมคาย แกนนำทีมธรรมนูญสุขภาพตำบลเขาไม้แก้ว สภาองค์กรชุมชนเขาไม้แก้ว และเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ปราจีนบุรี เล่าให้ฟังว่า ชุมชนได้พยายามหาทางแก้ปัญหาที่ประดังประเดเข้ามาโดยตลอด แต่หลายครั้งยิ่งแก้ ยิ่งยุ่ง ยิ่งเกิดช่องว่างและความขัดแย้งมากขึ้น จนในที่สุดพบทางออกว่า ทุกฝ่ายต้องหันหน้าเข้าหากัน หาข้อตกลงที่เห็นพ้องต้องกัน ก้าวข้ามความขัดแย้ง ร่วมกันผลักดันขับเคลื่อนความอยู่ดีกินดี สุขภาพดี ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน หน่วยงานและชุมชน ภายใต้แนวคิด “รู้เขา รู้เรา ตัดสินใจเอง จัดการตนเอง อย่างมีความสุข” จนออกมาเป็น “ก่อร่าง สร้างฝัน กำหนดอนาคตตนเอง ด้วยธรรมนูญสุขภาพตำบลเขาไม้แก้ว” ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2557
 
   ดอกผลงดงามเกิดชัดเจนในช่วงวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งพี่สุนทรบอกว่า คนเขาไม้แก้วไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก เพราะจุดเด่นของตำบลเขาไม้แก้ว คือ มีทรัพยากรธรรมชาติ พืชผักพื้นบ้าน อุดมสมบูรณ์ มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาการกินเน้นการทำอาหารจากทรัพยากรท้องถิ่น ทำให้ที่นี่ไม่ขาดแคลน ไม่ต้องแจกข้าวกล่องหรือตั้งตู้ปันน้ำใจ เพราะมีการปันน้ำใจ แลกเปลี่ยนอาหารและทรัพยากรกันในชุมชนในวิถีชีวิตปกติอยู่แล้ว ไม่มีผักก็ไปเก็บผักบ้านเพื่อนได้ อีกทั้งยังสามารถหาอาหารจากธรรมชาติ หาปลาจากแม่น้ำ หาผักจากป่าชุมชนหรือหัวไร่ปลายนาได้อย่างเพียงพอ เรียกได้ว่า เขาไม้แก้วเป็นแหล่งอาหารอินทรีย์ขนาดใหญ่ที่สร้างอาชีพและสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับคนในชุมชนเลยล่ะครับ
 
   ที่น่าชื่นชมมากไปกว่านั้น คือ คนที่นี่ช่วยเหลือกันด้วยการส่งเสริมให้พี่น้องคนเขาไม้แก้วที่ได้รับผลกระทบของโควิด-19 จนต้องกลับถิ่นฐานบ้านเกิด ได้เรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ เป็นการสร้างอาชีพอีกด้วย รวมถึงส่งเสริมอาชีพทางเลือกอื่น ๆ ทำให้คนที่นี่ไม่ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจภายนอกมากนัก กินอิ่มนอนอุ่นกันถ้วนหน้า
 
   แต่เขาก็ไม่หยุดนิ่งนะครับ ชาวตำบลเขาไม้แก้ว เห็นพ้องกันว่า ธรรมนูญสุขภาพตำบลเขาไม้แก้ว เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนความอยู่เย็นเป็นสุขมาได้ 6 ปีแล้ว จึงมีแผนจะร่วมกันทบทวนและกำหนดอนาคตของตำบลเขาไม้แก้วกันอีกครั้ง เพื่อเตรียมการอนาคตร่วมกันต่อไป
 
   คนที่นี่เขาคิดการณ์ไกล มีวิสัยทัศน์และเข้มแข็งกันมาก ๆ เลยครับ ที่ใช้ประสบการณ์และบทเรียนจากวิกฤติต่าง ๆ รวมถึงวิกฤตการณ์โควิด-19 ครั้งนี้ เป็นจุดก้าวข้ามไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน อย่างยั่งยืน คนที่นี่เขาไม่พูดเยอะ แต่ลงมือทำให้เห็นผลจริงเลย ผมล่ะชื่นใจกับพี่น้องตำบลเขาไม้แก้วจริง ๆ เลยครับ
 
   แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147