พลัง “บวร” เกื้อกูลเยียวยาผู้ป่วยและกลุ่มเปราะบาง สู้ภัยโควิด-19

พลัง “บวร” เกื้อกูลเยียวยาผู้ป่วยและกลุ่มเปราะบาง สู้ภัยโควิด-19

พลัง “บวร” เกื้อกูลเยียวยาผู้ป่วยและกลุ่มเปราะบาง สู้ภัยโควิด-19

อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง นำประสบการณ์และบทบาทของสังฆะ รวมพลัง “บวร” ขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ สร้างการตื่นตัวให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเกื้อกูล สร้างวัฒนธรรมการเยียวยาผู้ป่วยและกลุ่มคนเปราะบาง สู้ภัยโควิด-19

   สวัสดีพี่น้องชุมชนเข้มแข็งทุกท่านครับ เรื่องเล่าพลังชุมชน สู้ภัยโควิด 19 ฉบับนี้ “สุชน” พาล่องใต้ไปที่อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง กันบ้างครับ
 
   ที่อำเภอห้วยยอดนี้ มีวัดห้วยยอดซึ่งก่อตั้งและเป็นแหล่งรวมใจของชุมชนมากว่า 100 ปี และยังเป็นที่ตั้งของชมรมชายผ้าเหลืองเพื่อเพื่อนผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งมี พระกฎษดา ขันติกโร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดห้วยยอด เป็นผู้ก่อตั้งและประธานดำเนินงาน มีบทบาทเป็นผู้นำในการเยียวยาผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต ที่เน้นการรับฟังและพูดคุยธรรมะ เพื่อเป็นกำลังใจแก่ทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล รวมถึงทำความเข้าใจกับครอบครัวผู้ป่วยเตรียมตัวเตรียมใจในช่วงเวลาสุดท้าย เพื่อการเผชิญความตายอย่างสงบ
 
   พระกฎษดาและทีมงานจิตอาสาของชมรมฯ ทำงานอย่างเข้มแข็ง โดยเริ่มจากท่านได้ขอแรงจากญาติโยมขับรถรับส่งท่านให้ได้ไปเยี่ยมผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่โรงพยาบาล แล้วค่อย ๆ ขยายสู่การเยี่ยมผู้ป่วยในชุมชน และสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเยียวยาผู้ป่วยระยะสุดท้ายและญาติอย่างเป็นระบบ พร้อมกับมีอีกหลากหลายโครงการที่สมาชิกชมรมได้ร่วมคิดร่วมทำ เช่น โครงการถุงชายผ้าเหลือง ที่ต่อยอดไปเป็นโครงการข้าวก้นบาตรเติมใจผู้ป่วย คลินิกธรรมะเยียวยาใจ เสวนาธรรมเรื่องพุทธศาสนากับการดูแลรักษาสุขภาพแบบองค์รวม กิจกรรมตักบาตรยาและอาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วย กิจกรรม 8 วัน 8 ชุมชนเพื่อการเยียวยา (ชุมชนกรุณาห้วยยอดโมเดล) สร้างพลังบวกถึงผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน และศูนย์เยียวยาภิกษุอาพาธ เป็นต้น
 
   และเมื่อมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธิ์ เขมังกโร) เจ้าอาวาสวัดยานนาวา กรรมการมหาเถรสมาคม ในฐานะประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม และประธานกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ได้รับสนองพระดำริจากสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่ให้วัดทั่วประเทศที่มีศักยภาพอย่างเพียงพอ อนุเคราะห์ประชาชนผู้ประสบความยากลำบาก ซึ่งเป็นบทบาทของสังฆะที่ดำรงอยู่ตั้งแต่อดีตกาล โดยคณะสงฆ์ทั่วประเทศได้สนองพระดำริ โดยปฏิบัติตามมาตรการของมหาเถรสมาคม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข และนำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาเป็นแนวทางร่วมด้วย มีการประกาศให้วัดเป็นพื้นที่ที่พระสงฆ์ดูแลกันเองตามธรรมวินัย พระจึงต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการระบาดของโรค และยังช่วยให้ข้อมูลและความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค ในขณะที่ญาติโยมก็ดูแลพระสงฆ์ตามหลักธรรมวินัยด้วยเช่นกันครับ
 
   เมื่อเป็นเช่นนี้ พระกฎษดา จึงได้นำประสบการณ์จากการทำงานกับผู้ป่วยและพระสงฆ์ที่อาพาธมาขยับขยายการทำงานไปที่กลุ่มคนเปราะบางอื่น ๆ กลุ่มเด็กและเยาวชนของอำเภอห้วยยอดเพิ่มเติม โดย ได้ร่วมมือกับเครือข่ายเดิมที่ทำงานร่วมกันอยู่แล้ว ทั้งเทศบาลตำบลห้วยยอด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอห้วยยอด โรงพยาบาลห้วยยอด รพ.สต. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเพิ่มเครือข่ายทั้ง 5 โรงเรียนในเขตเทศบาล ช่วยกันเผยแพร่สร้างความรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 แก่ประชาชนเพื่อกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในการป้องกันตนเองและดูแลกลุ่มเปราะบางในบ้าน โดยมีพี่ อสม. เป็นแกนสำคัญเคาะทุกประตูบ้านที่มีผู้ป่วยและกลุ่มคนเปราะบางเพื่อให้ความรู้และมาตรการในการดูแลผู้ป่วยที่เหมาะสม โดยชมรมฯ มีบทบาทในการสนับสนุนเครื่องใช้และอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยให้กับ อสม. เพื่อให้ พี่ ๆ อสม. ทำงานได้ง่ายและสะดวกมากขึ้นด้วย และยังมีกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ตู้ปันสุข เพื่อเพื่อนผู้ป่วยระยะสุดท้าย ข้าวก้นบาตรเติมใจปันสุข โครงการเดิน..รู้..สู้วิถีแห่งการเยียวยา เคาะประตูบ้าน เปิดประตูใจ กิจกรรมตู้กับข้าวเคลื่อนที่ ฯลฯ
 
   ท่านยังได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “แก่นสำคัญของทุกกิจกรรมที่ทำคือ สร้างการตื่นตัว ในชุมชนให้มีส่วนร่วมในการกลับมาช่วยเหลือกัน สร้างกระบวนการให้ชุมชนและสังคมกลับมาอยู่ร่วมกันด้วยความเกื้อกูลผ่านการสร้างวัฒนธรรมการเยียวยา”
 
   นับว่าอำเภอห้วยยอดเป็นพื้นที่หนึ่งที่แสดงถึงศักยภาพของพลัง “บวร” อย่างแท้จริง กราบอนุโมทนาสาธุครับ