ปาดังเบซาร์ สังคมพหุวัฒนธรรมแห่งการให้ สู้ภัยโควิด-19

ปาดังเบซาร์ สังคมพหุวัฒนธรรมแห่งการให้ สู้ภัยโควิด-19

ชุมชนเทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา นำธรรมนูญตำบลน่าอยู่ พหุวัฒนธรรมเทศบาลปาดังเบซาร์ มาขับเคลื่อนการดูแลช่วยเหลือพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ด้วยการวางเครือข่ายทำงานแบบดาวกระจาย หา “ขาใหญ่” ประจำซอย และจัดระบบการให้ความช่วยเหลือร่วมกัน
โดยไม่ติดขัดในข้อปฏิบัติทางศาสนาและวัฒนธรรม

   สวัสดีเพื่อนพี่น้องชุมชนคนเข้มแข็งครับ เรื่องเล่าพลังชุมชนสู้ภัยโควิด 19 ฉบับนี้ “สุชน” พาลงใต้ไปที่เทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา กัน
 
   ปาดังเบซาร์เป็นเมืองเล็ก ๆ ครับ มีเนื้อที่ 11.2 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ติดชายแดนไทยและรัฐเปอร์ลิสของมาเลเซีย คำว่า “ปาดัง” หมายถึงทุ่ง “เบซาร์” หมายถึงใหญ่ “ปาดังเบซาร์” จึงหมายถึงทุ่งขนาดใหญ่ เป็นเทศบาลเมืองที่ประกอบด้วยชุมชนน้อยใหญ่ 10 ชุมชน ประชากรกว่า 10,000 คน ที่น่าสนใจมากคือ ปาดังเบซาร์ เป็นพื้นที่พหุวัฒนธรรม ที่ผสมผสาน 3 วัฒนธรรมทั้งชุมชนมุสลิม ชุมชนจีน และชุมชนพุทธอยู่ด้วยกันอย่างสามัคคีกลมเกลียว ไปดูกันครับว่าในพื้นที่พหุวัฒนธรรมมีการจัดการและรับมือกับโควิด-19 อย่างไร
 
   พี่ชาคริต โภชะเรือง ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนสงขลา และเลขานุการ กขป.เขตพื้นที่ 12 ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนร่วมช่วยสนับสนุนกระบวนการพัฒนาชุมชนโดยสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในพื้นที่เมืองปาดังเบซาร์
มาอย่างต่อเนื่อง เล่าให้ผมฟังว่า การทำงานภายใต้สภาวะวิกฤติโควิด-19 ที่ปาดังเบซาร์นั้นจะเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ของจังหวัด คือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สังคมเป็นสุข และสิ่งแวดล้อมยั่งยืน เป็นชุมชนสร้างสุขที่เน้นการช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบางสุขภาวะผู้สูงวัย โดยมีธรรมนูญตำบลน่าอยู่ พหุวัฒนธรรมเทศบาลปาดังเบซาร์ ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมที่มุ่งสร้างความรัก ความสามัคคีของชุมชนให้เป็นกิจวัตร ก้าวข้ามความแตกต่าง ไม่แยกเชื้อชาติ ศาสนา ชาติพันธุ์ ถิ่นกำเนิด รวยจนสูงต่ำดำขาว เปิดใจรับ เรียนรู้การอยู่ดูแลกัน
 
   โดยมีการคัดกรองบุคคลที่ควรได้รับความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ซึ่งทีมทำงานจะลงพื้นที่และปรับปรุงระบบข้อมูลกลางของชุมชนที่เป็นฐานข้อมูลประชากรใน iMed@home ซึ่งได้สำรวจไว้ก่อนแล้ว และนำข้อมูลเหล่านั้น มาจัดระบบการให้ความช่วยเหลือร่วมกันระหว่างวัด มัสยิดและชมรมมุสลิม โดยไม่ติดขัดในข้อปฏิบัติทางศาสนา ใช้ฐานกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้คนหลากหลายวัฒนธรรมมาช่วยกันจัดระเบียบและทำงานร่วมกัน
 
   สำหรับกลุ่มผู้สูงวัยในเทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ ที่มีกว่า 1,000 คน พี่ ๆ ก็จะมีตัวแทนจากทุกศาสนา มาร่วมกันคิดร่วมกันทำกิจกรรม "เพื่อนพึ่งพิง" ซึ่งเป็นการเยี่ยมบ้านผู้พิการ ผู้สูงวัยและผู้ป่วยติดเตียงแบบบูรณาการ พร้อมมอบสิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นกำลังใจให้กัน
 
   เมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 กลไกกลุ่มเพื่อนพึ่งพิง สภาองค์กรชุมชน และชมรมมุสลิมบุหลันแดงจึงได้ขยายผล โดยดึงภาคีเครือข่ายมาร่วมงานเพิ่มเติม ได้แก่ ศุลกากร สถานีตำรวจ วัด มัสยิด เทศบาล สโมสรไลออนส์ บริษัทห้างร้าน วางเป็นเครือข่ายการทำงานแบบดาวกระจายเพื่อช่วยกันดูแลพี่น้องข้าง ๆ บ้าน โดยหา “ขาใหญ่” ประจำซอยให้เป็นคนประสานงานหลัก คอยติดตามดูแลให้การช่วยเหลือและป้องกันควบคุมโรค ซึ่งชุมชนต่างให้ความร่วมมืออย่างดีในการจัดการปัญหา และนำข้อตกลงในธรรมนูญตำบลน่าอยู่ฯ มาขับเคลื่อนอย่างไร้ขีดจำกัดและพรมแดนทางสังคม วัฒนธรรม ศาสนา
 
   ส่วนเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ชุมชนร่วมกันขับเคลื่อน โดยใช้ตลาด พหุวัฒนธรรมและเศรษฐกิจครัวเรือน น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ ชุมชนปาดังเบซาร์อยู่ดี มีสุข รอดพ้นผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งยังจะช่วยฟื้นฟูชุมชนหลังวิกฤตผ่านไปได้ด้วยครับ
 
   ผมได้ฟังเรื่องราวของชาวปาดังเบซาร์แล้ว ก็อิ่มอกอิ่มใจในความช่วยเหลือเอื้ออาทรต่อกัน แม้มีวิกฤติมาท้าทาย แต่ความรัก ความสามัคคี ความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมแห่งการให้ก็จะมีแต่รอยยิ้มและมิตรภาพตลอดไป แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ