ธรรมนูญสุขภาพโคกคราม รวมใจหนึ่งเดียวชนะภัยโควิด-19

ธรรมนูญสุขภาพโคกคราม รวมใจหนึ่งเดียวชนะภัยโควิด-19

ชาวเทศบาลตำบลโคกคราม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ใช้ฐานทุนจากธรรมนูญสุขภาพเทศบาลตำบลโคกคราม ต่อยอดความร่วมมือแบบน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มาเป็นธรรมนูญสุขภาพเทศบาลตำบลโคกครามว่าด้วยมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พ.ศ. 2563 จนชนะภัยโควิด-19

   สวัสดีเพื่อนพี่น้องชุมชนคนเข้มแข็งครับ เรื่องเล่าพลังชุมชนสู้ภัยโควิด-19 ฉบับนี้ “สุชน” จะพาไปอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรีกัน ไปติดตามกันครับว่าเขาทำอย่างไร ที่นี่จึงเป็นพื้นที่ที่ไม่พบการติดเชื้อหรือการแพร่ระบาดเลย
 
   คุณอุบลวรรณา เรือนทองดี หรือ พี่โย กรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ 5 และเป็นแกนพัฒนาและขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพเทศบาลโคกคราม เล่าให้ผมฟังว่าโคกครามมีฐานทุนเดิมจากการทำและประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพเทศบาลตำบลโคกครามมาก่อน เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ชุมชนจึงปรับตัวได้เร็วโดยนำแนวคิด กระบวนการมาปรับใช้ ผู้คนทั้งเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลบางปลาม้า รพ.สต. พระสงฆ์จากวัดลาดหอย ผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน อสม. ตัวแทนตลาด ร้านสะดวกซื้อ และประชาชน มาร่วมกันพูดคุยเพื่อจัดการและรับมือกับโรคโควิด-19 โดยโรงพยาบาล และ รพ.สต. ให้ข้อมูลทางวิชาการ ส่วนผู้ใหญ่บ้านก็ให้ข้อมูลจากผู้ว่าราชการจังหวัด และร่วมกันร่างมาตรการเพื่อควบคุมป้องกัน จนได้ประกาศใช้ “ธรรมนูญสุขภาพเทศบาลตำบลโคกครามว่าด้วยมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พ.ศ. 2563” เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2563
 
   คนในชุมชนต่างเห็นตรงกันว่า โรคโควิด-19 คือ ปัญหาของทุกคน ทุกคนจึงตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกัน การปฏิบัติตัว การเว้นระยะห่างทางสังคม รวมถึงเรื่องสุขอนามัยต่าง ๆ ที่เข้มงวดขึ้น เช่น ต้องสวมหน้ากาก ต้องล้างมือ ต้องตรวจวัดไข้
 
   มาตรการสำคัญที่เขาตกลงกันคือ กิจกรรมต่าง ๆ หากมีความเสี่ยงก็จะไม่ทำ หรือหากจำเป็นต้องทำก็ต้องแจ้งหน่วยงานในพื้นที่เพื่อกำหนดมาตรการป้องกัน โดยสามารถวางระบบคัดกรองโรคในงานต่าง ๆ ได้ครบทั้งตำบล 12 หมู่บ้าน พี่น้องที่นี่เขาช่วยกันทำเองไม่ต้องมีใครมากำกับหรือสั่งการ มีเพียง รพ.สต.ที่สนับสนุนเทอร์โมสแกนให้หมู่บ้านละ 1 เครื่อง อุปกรณ์เพิ่มเติมที่เหลือชุมชนมีศักยภาพจัดหาได้เอง
 
   กองกำลังสำคัญของแนวรบป้องกันโควิด-19 ที่นี่ ก็คือทีมพี่ๆ อสม.ครับ ทั้งจัดเวรกันคัดกรองโรค
ในงานศพ งานบุญต่าง ๆ และยังได้เพิ่มเติมภารกิจสำคัญจากเดิมที่พี่ ๆ เขาเป็นพลังสำคัญในการจัดบริการสุขภาพ มีการเยี่ยมบ้านแก่ผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงอยู่แล้ว ในสถานการณ์นี้จึงช่วยรับบทเพิ่ม คือ นำส่งยาให้กับผู้สูงอายุและผู้ป่วยถึงบ้าน ตรวจวัดอุณหภูมิ ให้คำแนะนำเรื่องโรคโควิด-19 และยังเขียนโครงการ
ต้านโควิด-19 ของบประมาณสนับสนุนจากกองสุขภาพระดับตำบลในการจัดหาหน้ากากผ้า เฟซชิลด์ และแอลกอฮอล์ เพื่อใช้ในการป้องกันโรคของพี่น้องในชุมชนอีกด้วยครับ

 
   ขณะนี้สถานการณ์โรคได้เริ่มเริ่มผ่อนคลายลงมากแล้ว ทีมธรรมนูญฯ ก็ปรับบทบาทโดยจะให้ความรู้เรื่องการดำรงชีวิตในวิถีปกติใหม่ หรือ new normal และเริ่มเตรียมแผนการเยียวยา ที่จะใช้นโยบายหรือมาตรการของท้องถิ่น ผู้ว่าราชการจังหวัดและสาธารณสุขมาประกอบกัน โดยจะมีการหารือร่วมกันเพื่อปรับโครงสร้างการสร้างอาชีพของพี่น้องในชุมชนให้สามารถทำมาหากินอยู่ได้อย่างยั่งยืน
 
   จากที่ผมได้พูดคุยกับพี่โย ทำให้เห็นถึงปัจจัยความสำเร็จของชุมชน คือ การที่ผู้คนได้มาร่วมคิด ร่วมทำ กำหนดเป็นกติการ่วมกัน และผู้คนมีลักษณะของผู้นำแบบไม่เป็นทางการ แต่มีใจเพื่อชุมชน เมื่อเข้าใจปัญหา มองเห็นประโยชน์ก็เอาไปพูดคุย ลงมือทำ และขยายผลต่อได้เอง
 
   ที่สำคัญ...ชาวโคกครามเขาพอใจ ภาคภูมิใจและถือปฏิบัติตามมาตรการอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน จนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันและมีความมั่นใจว่าโคกครามจะปลอดภัยจากโรคโควิด-19 ผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับทราบและชื่นชมความเข้มแข็งของชาวชุมชน โดยเห็นว่าวิธีการเช่นนี้เป็นพื้นฐานการมีส่วนร่วมสำคัญที่จะขยายผลไปสู่การแก้ปัญหาเรื่องอื่น ๆในชุมชน หรือนำไปใช้ออกแบบนโยบายระดับอื่นได้ด้วย แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ