ธรรมะเป็นฐาน เกษตรเป็นทุน ร่วมบุญสู้ภัยโควิด-19

ธรรมะเป็นฐาน เกษตรเป็นทุน ร่วมบุญสู้ภัยโควิด-19

สถาบันธรรมาภิวัฒน์ เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา จังหวัดลำปาง นำพลัง “บวร” เชื่อมหลักการธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เกื้อกูลชุมชน เยียวยาจิตใจ สร้างความมั่นคงทางอาหาร ใช้ธรรมะเป็นฐาน ผสานเกษตรเป็นทุน ร่วมบุญชุมชนสู้ภัยโควิด-19 สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ยั่งยืน

   แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลายพอเบาใจได้ไม่น้อย แต่ผลกระทบทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการใช้ชีวิตของผู้คนยังคงได้รับผลกระทบและรอการเยียวยา ซึ่งความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน คือ ตัวยาสำคัญในการป้องกันและควบคุม ไม่เพียงในระยะการระบาด แต่ยังเป็นวัคซีนที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบในระยะยาวด้วย จิ๊กซอว์สำคัญที่ช่วยสังคมรับมือกับวิกฤตินี้คือมิติทางศาสนา วันนี้“สุชน” จึงขอพาไปเรียนรู้บทบาทของพระสงฆ์ที่ช่วยชุมชนสู้ภัยโควิด-19 ณ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง กันครับ
 
   ผมไปกราบนมัสการ พระสาธิต ธีรปัญโญ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมาภิวัฒน์ เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา จังหวัดลำปาง ท่านเป็นพระนักพัฒนาตัวจริงครับ ทำงานทั้งด้านพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนที่มีปัญหาการใช้ยาเสพติดอย่างรุนแรง จัดอบรมธรรมะ และขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ ท่านได้เมตตา เล่าถึงบทบาทของพระสงฆ์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำอยู่ 2 เรื่อง ภายใต้หลักการทำงาน “เอาธรรมเป็นฐาน เอาเกษตรเป็นทุน เอาบุญเป็นเป้าหมาย”
 
   เรื่องแรกคือ เยียวยาจิตใจของญาติโยม ผ่านรายการธรรมะทางสถานีวิทยุสีขาวและเผยแพร่ต่อ ใน YouTube ท่านจะโพสต์ข้อความให้กำลังใจญาติโยมในเฟซบุ๊กทุกเช้า และมี Hotline สายด่วนให้ญาติโยมส่งข้อความมาปรึกษา ท่านทำงานนี้ร่วมกับเครือข่ายสงฆ์นักพัฒนาและเครือข่ายวิทยุในท้องถิ่นด้วย และเมื่อสถานการณ์เบาบางลง ท่านกลับพบว่า ประชาชนมีปัญหาด้านจิตใจมากขึ้น ท่านจึงได้จัดรายการวิทยุ พูดถึงเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย การสำรวจโรคซึมเศร้าทั้งตัวเราและคนรอบข้างเพิ่มเติม

 
   เรื่องที่สองคือ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยท่านแบ่งพื้นที่ของวัดหรือสถาบันธรรมาภิวัฒน์ จำนวน 15 ไร่ ตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้วิถีธรรม ให้ญาติโยมที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 หรือตกงาน แล้วกลับมาอยู่บ้าน ได้เข้ามาทำเกษตร รดน้ำ ปลูกผัก คนไหนมีช่องทางการตลาดก็ให้นำผลผลิตไปช่วยขาย เรียกได้ว่า ใครมีความสามารถด้านไหนก็เข้ามาช่วยวัดและช่วยกันเองได้ เงินที่ได้มาจากการทำเกษตรนี้ก็นำมาซื้อของที่ไม่สามารถปลูกได้เอง และส่งต่อให้กับชุมชน นำไปบริโภคและลดต้นทุนในการใช้ชีวิต ทั้งยังขยับขยายพัฒนาเป็นอาชีพรองรับในอนาคตด้วย
 
   ท่านกล่าวถึงเบื้องหลังการทำงานนี้ให้ฟังว่า พื้นที่นี้มีการเคลื่อนงานในลักษณะ พลัง “บวร” อยู่ก่อนแล้ว มาได้แรงเสริมหนุนจากเวที Facebook live เรื่องธรรมนูญสงฆ์ รวมพลังบวรสู้ภัยโควิด-19 ที่สช.ร่วมกับ 25 องค์กรภาคีจัดขึ้นเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้ช่วยให้เกิดกระแสการสร้างความร่วมมือของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะเครือข่ายของ สช. ด้วยกันเอง ท่านยังได้ส่ง link ดังกล่าว ให้เจ้าหน้าที่ของ อบต. ดูด้วย ทำให้เกิดแนวคิดในการทำงานว่าพระก็เข้ามามีบทบาทในเรื่องของการเยียวยาจิตใจและดูแลสังคมได้
 
   ท่านกล่าวถึงฐานในการทำงาน ฐานในการอ้างอิงที่สำคัญที่สุดคือ ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 เพราะมหาเถรสมาคมได้รับทราบเรื่องราวของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ ที่ได้รับรองว่า
การช่วยเหลือกันในสังคม คือ หนึ่งในกิจของสงฆ์ ตัวอย่างของการนำกิจกรรมการเกษตรในพื้นที่ของวัดมาเป็นจุดเริ่มของการช่วยดูแลสุขภาพซึ่งกันและกันของพระสงฆ์และญาติโยม เป็นไปตามแนวคิดของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ 3 ข้อ คือ หนึ่ง พระดูแลสุขภาพตนเอง ปลูกผัก ฉันผักปลอดสารที่ปลูกเอง พระได้ออกกำลังกายและฉันอาหารที่ดี สอง พระดูแลสุขภาพโยม เปิดโอกาสให้ญาติโยมได้เข้ามาเรียนรู้การทำแปลงปลูกผัก ที่สามารถต่อยอดเป็นอาชีพได้ และ สาม โยมดูแลสุขภาพพระ เมื่อญาติโยมเข้าใจเรื่องการกินอยู่ที่ดี ก็จะเข้ามาช่วยดูแลพระได้ดีเช่นกัน

 
   ปิดท้าย ท่านเล่าถึงข้อค้นพบคือ ตัวเราเองจะต้องเป็นคนที่ทำงานจริงเสียก่อน เป็นผู้นำทางธรรมชาติ เมื่อคนภายนอกเห็นเราทำงาน เขาก็อยากเสริมหนุน แต่เราก็ต้องมองให้ออกว่าจะชวนเขามาร่วมมือกันในส่วนไหนเพื่อที่จะทำงานไปด้วยกันได้อย่างดี
 
   กราบสาธุครับ พบกันใหม่ฉบับหน้านะครับ