60 ชุมชน กทม. รวมพลังพลเมืองตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19

60 ชุมชน กทม. รวมพลังพลเมืองตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19

60 ชุมชน กทม. รวมพลังพลเมืองตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19

ชาวบ้าน 60 ชุมชนใน 10 เขตกรุงเทพมหานคร ชักชวนกันลุกขึ้นจัดการตนเอง วาดภาพฝันตามความต้องการให้ทุกคนรอดปลอดภัย ประกาศมาตรการควบคุมและป้องกันโควิด-19 วางหมุดยกระดับเป็นธรรมนูญสุขภาพชุมชน และธรรมนูญสุขภาพเขต ก้าวสู่ชีวิตวิถีใหม่ที่ออกแบบไปด้วยกัน

   สวัสดีครับ พี่น้องชาวชุมชนเข้มแข็งทุกท่าน ไปต่างจังหวัดกันมาเยอะแล้ว ฉบับนี้ สุชน ชวนกลับมาเมืองหลวง ไปชื่นชม 60 ชุมชนพลเมืองตื่นรู้ จาก 10 พื้นที่เขตในกรุงเทพมหานคร ที่มีประชากรกว่า 87,500 คน จาก 22,136 หลังคาเรือนกันบ้างนะครับ
 
   พี่น้อง 60 ชุมชนได้ร่วมกันประกาศมาตรการควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 นี่เองครับ โดยคาดหวังให้เป็นข้อตกลงร่วมที่ทุกชุมชนจะนำไปปฏิบัติจริง มีเป้าหมายว่าพี่น้องทั้งหมดต้องไม่ติดเชื้อ ต้องไม่เสียชีวิตจากโควิด-19 รวมทั้งช่วยกันดูแลภาวะจิตใจ เศรษฐกิจ สังคม ในระยะฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของทั้งชุมชนด้วย
 
   พี่ทินกร จรรยา ผู้ประสานงานโครงการพัฒนานโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ช่วยชาติ กรุงเทพมหานคร บอกผมว่า กว่าจะถึงวันที่แกนนำชุมชนชักชวนกันลุกขึ้นมา “จัดการตนเอง สร้างการมีส่วนร่วม รวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ” วาดภาพฝันที่ต้องการให้ทุกคนรอดปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 สู่ชีวิตในวิถีใหม่ที่ร่วมกันออกแบบนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยครับ...
 
   พี่ทินกรเล่าให้ฟังต่อว่า เมื่อโรคโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ชาวชุมชน อยู่ในภาวะรอพึ่งใครไม่ได้ ต้องพึ่งกันเองก่อน เพราะขาดแคลนทั้งหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ขาดความรู้เกี่ยวกับโรค ชุมชนทำได้เพียงเฝ้าติดตามข่าวสารและข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข
 
   ชุมชนจึงตัดสินใจตั้งวงปรึกษาหารือภายในชุมชน โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เข้ามาช่วยสนับสนุนให้ชุมชนร่วมกันออกแบบกระบวนการทางสังคมในการเฝ้าระวัง ป้องกันการแพร่ระบาดเบื้องต้น แล้วเริ่มดำเนินการตามมาตรการรับมือภัยโควิด-19 บนพื้นที่นำร่อง ใน 3 ชุมชนของเขตธนบุรี แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มลุกลามขยายวงกว้าง จึงมีพื้นที่แนวร่วมอีก 57 ชุมชนจาก 9 เขตทั้งดอนเมือง ดินแดง สายไหม ลาดพร้าว บึงกุ่ม วังทองหลาง บางบอน บางคอแหลม และคลองสาม ได้เข้าร่วมการทำงาน โดยใช้แนวทางปฏิบัติการ “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ช่วยชาติ สู้ภัยโควิด-19” ที่ สช. ร่วมกับ 12 องค์กรภาคียุทธศาสตร์ได้จัดทำเผยแพร่ไปยังท้องถิ่นและชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งพี่ทินกรบอกว่าเป็นคู่มือสานพลังเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและความเข้มแข็งภาคประชาชนในภาวะวิกฤติได้อย่างดีครับ
 
   เมื่อพร้อมแล้ว ทั้ง 60 ชุมชน จึงเริ่มกระบวนการปรึกษาหารือทั้งในระดับเขตและชุมชน โดยมีสำนักงานเขตพื้นที่ร่วมแลกเปลี่ยน ศูนย์บริการสาธารณสุขชี้แนะมาตรการทางสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ตำรวจ และภาคเอกชนในพื้นที่ให้การสนับสนุน กำลังสำคัญของชุมชนคือ สภาองค์กรชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่เป็นขุนพลออกทำความเข้าใจ สร้างความร่วมมือกับชาวชุมชน รวมตลอดระยะเวลา 75 วัน และร่วมกันกำหนดมาตรการชุมชนสู้ภัยโควิด-19 จนประกาศมาตรการควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้สำเร็จ
 
   และระยะเวลา 30 วัน ต่อจากนี้ คือ การนำมาตรการชุมชนสู้ภัยโควิด-19 ไปทดลองใช้ และนัดหมายกันอีกครั้งในวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ที่จะเป็นการลงนามความร่วมมือกับสำนักงานเขตพื้นที่ สถานีตำรวจนครบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข สถาบันการศึกษา หน่วยงานในพื้นที่ และองค์กรเอกชน ประกาศใช้ “ธรรมนูญสุขภาพชุมชน” เพื่อเป็นข้อตกลงร่วมของหน่วยงานในเขตพื้นที่ กทม. และ ชาวบ้านทั้ง 60 ชุมชน ทั้งยังได้ร่วมกันปักหมุดไว้ว่า ในปี 2564 จะยกระดับไปเป็น “ธรรมนูญสุขภาพเขต” โดยเชื่อมประสานกับกองทุนหลักประกันสุขภาพ เพื่อกำหนดทิศทางสร้างสุขภาวะ ให้ชาวชุมชนมีคุณภาพชีวิตดี ปลอดภัย ไร้กังวลอย่างยั่งยืน
 
   พี่ทินกร ปิดท้ายว่า วิกฤติครั้งนี้พี่น้องทั้ง 60 ชุมชน ต้องเผชิญความท้าทายด้วยทุกขภาวะรอบด้าน แต่เมื่อภัยมาถึงครัวเรือน แกนนำชุมชนก็กลายเป็นยอดนักสู้ ไม่ยอมแพ้ต่อความสถานการณ์โรคที่ไม่มีใครรู้จัก รวมพลังกันสู้กับความหวาดกลัว หวาดระแวง ความเหลื่อมล้ำในสังคม ข่าวลือข่าวลวง การกีดกันรังเกียจผู้ต้องสงสัยติดเชื้อหรือรักษาหายแล้ว โรคซึมเศร้า ความหิวโหย เศรษฐกิจตกต่ำย่ำแย่ ทุกคนต่างต้องการเอาชีวิตให้รอด แกนนำต้องจัดวิธีทำงาน ทำข้อมูล ช่วยกันจัดกระบวนการมีส่วนร่วม และระดมทรัพยากรทั้งหมดที่มี
เพื่อเป้าหมายประชากร 20 ล้านคนของกรุงเทพมหานคร โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมพลังเอาชนะภัยโควิด-19 ครั้งนี้ไปด้วยกัน
 
   ชุมชนเข้มแข็งกันมากขนาดนี้ กรุงเทพเมืองฟ้าอมรจริงๆครับ