จากชันชีนาทอนสู่ชันชีสู้ภัยโควิด-19...เปลี่ยนทุกข์เป็นสุข

จากชันชีนาทอนสู่ชันชีสู้ภัยโควิด-19...เปลี่ยนทุกข์เป็นสุข

จากชันชีนาทอนสู่ชันชีสู้ภัยโควิด-19...เปลี่ยนทุกข์เป็นสุข

ชาวตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล ใช้กระบวนการ “ชันชี” หรือสัญญาใจ จัดการปัญหาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมของชุมชนมาตลอดหลายปี ต่อเนื่องสู่ “ชันชี” สู้ภัยโควิด-19 ช่วยเปลี่ยนทุกข์ให้กลายเป็นสุข เพราะคนนาทอนไม่ทอดทิ้งกัน

   สวัสดีครับ เรื่องเล่าพลังชุมชนสู้ภัยโควิด-19 ฉบับนี้ “สุชน” ขอพาล่องใต้ไปเยี่ยมตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล ตำบลเล็ก ๆ ริมฝั่งทะเลอันดามัน ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งขุนเขา ผืนนา ป่า และท้องทะเล เป็นชุมชนที่ผู้คน 2 ศาสนา อยู่ร่วมกันอย่างสันติและปรองดองครับ
 
   ที่ผ่านมา คนนาทอนก็ประสบปัญหาและมีความทุกข์เหมือนชุมชนอื่นทั่วไป แต่เครื่องมือภูมิปัญญาที่ชาวนาทอนเลือกมาใช้แก้ไขปัญหา ชื่ออาจแปลกแต่เก๋นะครับ ภาษาถิ่นใต้เรียกว่า "ชันชี” หรือ "ญัณญี” มีรากศัพท์จากภาษามลายู ที่หมายถึง สัญญาใจ “ชันชีนาทอน” จึงเป็นสัญญาใจของคนนาทอนในการจัดการชุมชน ผมฟังแล้วก็เหมือนหลักการของธรรมนูญสุขภาพเลยนะครับ
 
   พี่สมยศ ฤทธิ์ธรรมนาถ นายก อบต.นาทอน เล่าให้ผมฟังว่า นาทอนใช้ “ชันชี” เพื่อสร้างข้อตกลงและกติกาในการอยู่ร่วมกันของผู้คนทั้ง 9 หมู่บ้าน ไม่เน้นบทลงโทษแต่มุ่งให้เกิดแนวทางแก้ปัญหา หาทางออกร่วมกันและพัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะระดับตำบล การขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิบัติมี คณะกรรมการชันชีพลเมืองเป็นกลไกหลักที่เกิดจากความร่วมมือของ 4 เสาหลักชุมชน คือ ศาสนา ประชาสังคม ท้องที่ และท้องถิ่น จัดกระบวนการ เปิดพื้นที่ให้คนในชุมชนร่วมกันสร้างข้อเสนอ กลั่นกรองตกผลึกเป็นฉันทมติในการกำหนดทิศทางพัฒนาและออกแบบการจัดการปัญหา กำหนดว่าจะร่วมกัน “ทำ”หรือ “ไม่ทำ” ในเรื่องต่าง ๆ ชุมชนจึงรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของ“ชันชีนาทอน” ทำให้การนำไปใช้บรรลุผลได้ไม่ยาก
 
   เมื่อสถานการณ์โรคโควิด-19 มาเยือน อบต. นาทอน จึงเร่งปรึกษาหารือกับสภาองค์กรชุมชนตำบลนาทอน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สมัชชาสุขภาพจังหวัดสตูล ศปจ.สตูล คณะกรรมการกองทุนสุขภาพตำบลนาทอน ภาคเอกชน รวมทั้งคณะกรรมการชันชีพลเมืองหรือ 4 เสาหลักของชุมชน ตกลงดำเนินการ 3 เรื่องสำคัญครับ
 
   หนึ่ง จัดทำโครงการสานพลังพลเมืองตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19 ทบทวนและประเมินสถานการณ์ของโรค และเตรียมกระบวนการเพื่อรับมือ ป้องกัน ควบคุม ฟื้นฟูของตำบลด้วย
 
   สอง ออกแบบการบูรณการระหว่างองค์กรและเครื่องมือกระบวนการ โดยได้นำธรรมนูญสุขภาพตำบลมาเป็นเครื่องมือพัฒนามาตรการ กติกา ข้อตกลงในช่วงสถานการณ์โรคระบาด ผสานกับการพัฒนาแผนตำบล การพัฒนาโครงการคุณภาพชีวิตตำบล ใช้ต้นแบบรูปธรรมตำบลสุขภาวะมาดูแล เยียวยา และฟื้นฟูคุณภาพชีวิตชุมชน
 
   สาม การบูรณาการการใช้งบประมาณร่วม ระหว่าง อบต. ตำบลสุขภาวะ กองทุนสุขภาพตำบล และกองทุนสวัสดิการชุมชน เพื่อดูแลกลุ่มผู้ยากไร้และกลุ่มคนเปราะบาง รวมไปถึงการฟื้นฟู เยียวยาชุมชน
 
   นายกฯ สมยศ เล่าว่า การทำงานเริ่มจากการประชาสัมพันธ์เสียงตามสายและรถแห่ให้ความรู้และสร้างความตระหนักในการดูแลป้องกันตัวเองและสอดส่องดูแลกันของคนในชุมชน จัดเวรยามหมุนเวียนและ เตรียมความพร้อมรับมือการเดินทางเข้าออกชุมชน
 
   ความเห็นไม่ตรงกันก็มีนะครับ...เมื่อเริ่มแนวคิดจัดตั้งศูนย์กักกันกลางของตำบล ชาวบ้านก็หวาดวิตกและต่อต้าน เขาแก้ปัญหาโดยเรียกชาวบ้านมาหารือร่วมกัน จนได้ข้อสรุปและเข้าใจตรงกันว่าการมีศูนย์กักกันกลางไม่ได้น่ากังวลอย่างที่คิด เพราะมีการวางระบบที่ดีตามมาตรฐาน ควบคู่กับจัดมาตรการดูแลด้านจิตใจ สร้างความอบอุ่น ลดความรู้สึกเป็นคนแปลกหน้า สร้างความเชื่อมั่นว่า “คนนาทอนไม่ทอดทิ้งกัน”
 
   โจทย์ต่อไปของคนนาทอนคือจะอยู่และใช้ชีวิตวิถึใหม่หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลงอย่างไร เขาใช้การตั้งวงปรึกษากันเหมือนเดิมครับว่า จะเร่งฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยาธรรมชาติทั้งป่าบก ป่าเลน ใช้ทุนความรู้และภูมิปัญญาชุมชนเพื่อส่งเสริมอาชีพ สร้างวิสาหกิจชุมชน สร้างรายได้และคุณภาพชีวิตกันอย่างไร เช่น การทำลูกประคบ ผลิตภัณฑ์จากสมุนไหร การทำเกษตรผสมผสาน เป็นต้น
 
   “ชันชีนาทอน”เป็นรูปธรรมความสำเร็จของการใช้จิตวิญญานการมีส่วนร่วมที่ทำให้ธรรมนูญชุมชนแห่งนี้มีชีวิตอย่างแท้จริงและยั่งยืน ช่วยเปลี่ยนทุกข์ให้กลายเป็นสุขได้จริง ๆ นะครับ พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ