ตลาดรถเขียว ตลาดเคลื่อนที่ ต้นแบบการก้าวข้ามวิกฤติโควิด-19

ตลาดรถเขียว ตลาดเคลื่อนที่ ต้นแบบการก้าวข้ามวิกฤติโควิด-19

ตลาดรถเขียว ตลาดเคลื่อนที่ ต้นแบบการก้าวข้ามวิกฤติโควิด-19

ชาวสงขลา ไม่ยอมจำนนต่อวิกฤติ ปรับตัว ดัดแปลงตลาดรถเขียว ให้เป็นตลาดเคลื่อนที่ ลดข้อจำกัดเรื่องการตลาดของเกษตรกรรายย่อย และช่วยเหลือประชาชน ให้มีผัก ผลไม้ปลอดภัยบริโภคในช่วงวิกฤตโควิด-19 เป็นต้นแบบดีดีของการขับเคลื่อนเกษตรและอาหารสุขภาพของคนสงขลา

   สวัสดีเพื่อนพี่น้องชุมชนคนเข้มแข็งครับ เรื่องเล่าพลังชุมชน สู้ภัยโควิด-19 ฉบับนี้ ผมนาย “สุชน” จะพาไปรู้จัก “ตลาดรถเขียว Green smile mobile” ต้นแบบการขับเคลื่อนเกษตรและอาหารสุขภาพของคนสงขลา ที่พัฒนาจากรถพุ่มพวงขายกับข้าวที่พวกเราคุ้นเคย ไปเป็นแหล่งอาหารปลอดภัยของชุมชนกันครับ
 
   จุดเริ่มต้นเกิดจาก พี่ปลา ณัฐฤกตา อารมณ์ฤทธิ์ หลังลาออกจากงานมาดูแลคุณพ่อที่ป่วย
ด้วยโรคมะเร็ง จึงได้มีการปรับพฤติกรรมการบริโภคและเริ่มปลูกผักปลอดภัยเอง จนสวนหลังบ้านกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเพื่อนบ้านและผู้สนใจ ขยับขยายรวมตัวกันเป็น “กลุ่มสวนผักคนเมืองทุ่งลาน” และต่อมาได้เข้าร่วมเครือข่ายเกษตรสุขภาพจังหวัดสงขลา และขายผักในตลาดกรีนสมาย บริเวณโรงพยาบาลหาดใหญ่

 
   ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ตลาดกรีนสมายปิดตัวลงชั่วคราวและมาเริ่มเปิดใหม่ในเดือนพฤษภาคม พี่ปลาซึ่งมีความตั้งใจอยากนำผลผลิตปลอดภัยไปส่งถึงมือผู้บริโภคในเมืองหาดใหญ่ จึงได้ซื้อรถกระบะมาดัดแปลงเป็นตลาดเคลื่อนที่ ติดลำโพงเครื่องเสียง ป้ายชื่อรถ ป้ายประชาสัมพันธ์ บรรทุกผลิตภัณฑ์ของเครือข่ายฯ ที่มีทั้งผัก ผลไม้ สินค้าแปรรูปบรรจุลงลังไม้ ใส่ถุงติดป้ายแสดงราคา กลายเป็น “ตลาดรถเขียว Green smile mobile” เป็นตลาดเคลื่อนที่ โดยนำ social media เข้ามาช่วยในการสื่อสารนัดหมายการซื้อขาย นำส่งผลผลิตจากสมาชิกให้ถึงมือผู้บริโภคด้วยครับ
 
   พี่ชาคริต โภชะเรือง ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนสงขลา และเลขานุการคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน หรือ กขป. เขตพื้นที่ 12 เล่าให้ฟังว่า ตลาดรถเขียวเคลื่อนที่ช่วยลดข้อจำกัดเรื่องการตลาดของเกษตรกรรายย่อยที่อาจมีผลผลิตไม่มากนัก และยังช่วยให้ประชาชนสามารถมีผัก ผลไม้ปลอดภัยบริโภคอย่างทั่วถึงในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย การใช้บริการตลาดรถเขียวก็มีการกำหนดมาตรการความปลอดภัย ทั้งการเว้นระยะห่างของผู้ขาย ผู้ซื้อ ณ จุดจอดประจำโดยการขีดเส้นสีเหลือง สมาชิกที่มารับผลผลิตและแม่ค้าพ่อค้าต้องสวมหน้ากากอนามัย มีเจลล้างมือให้บริการ และยังได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น Greensmile เพื่อนำเสนอข้อมูลการผลิตและข้อมูลพื้นฐานของสมาชิกควบคู่กันไปด้วย
 
   พี่ชาคริต เล่าย้อนไปถึงภาพใหญ่ของการขับเคลื่อนประเด็นเกษตรและอาหารสุขภาพของจังหวัดสงขลา ว่ามีจุดเริ่มต้นจากการทำงานของมูลนิธิชุมชนสงขลา ร่วมกับ มูลนิธิรอกกีเฟลเลอร์ และภาคีต่าง ๆ เช่น สสส. อบจ.สงขลา และการร่วมสนับสนุนของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลหาดใหญ่ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด สถานีพัฒนาที่ดินสงขลา บริษัทประชารัฐฯ สงขลา และ กขป.เขตพื้นที่ 12 ด้วยรวมกลุ่มกันในชื่อ“เครือข่ายเกษตรสุขภาพจังหวัดสงขลา” ที่มุ่งมั่นผลิตผัก ผลไม้ปลอดภัยสู่ผู้บริโภค และร่วมกันพัฒนามาตรฐานเครือข่ายรับรองแบบมีส่วนร่วม หรือ PGS ซึ่งที่สงขลา ใช้ชื่อ SGS-PGS Organic มีการออกตรวจแปลงเกษตรและออกใบรับรองให้กับสมาชิกที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย เพื่อลดช่องว่างการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์กลางของภาครัฐที่เน้นส่งออก และได้มีการขยายสมาชิกเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
 
   การขับเคลื่อนประเด็นเกษตรและอาหารสุขภาพของคนสงขลาประสบความสำเร็จได้ดี สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ การมีข้อตกลงร่วมหรือธรรมนูญเครือข่ายเกษตรสุขภาพจังหวัดสงขลา ที่เป็นทั้งการกำหนดเป้าหมาย ทิศทางและกระบวนการผลิต รวมทั้งการจัดทำมาตรฐาน SGS-PGS Organic เพื่อให้สมาชิกเครือข่ายเกษตรสุขภาพจังหวัดสงขลายึดถือเป็นแนวปฎิบัติร่วมกัน ซึ่งกรณีของตลาดรถเขียวก็เป็นรูปธรรมความสำเร็จหนึ่งครับ
 
   คนสงขลานี่ไม่ยอมจำนนต่อวิกฤติเลยนะครับ พร้อมจะดัดแปลงสิ่งที่มีอยู่เดิม ปรับให้สอดรับใช้งานได้จริงยืดหยุ่นสถานการณ์ โดยยังยึดเป้าหมายร่วมของการขับเคลื่อนเกษตรและอาหารสุขภาพ ด้วยความร่วมมือของเครือข่ายต่าง ๆ ในพื้นที่เพื่อก้าวผ่านสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปด้วยกัน น่าสนใจจริง ๆ นะครับ