กขป.เขต 7 เมืองร้อยแก่นสารสินธุ์ ก้าวข้ามภัยโควิด-19 สร้างความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน

กขป.เขต 7 เมืองร้อยแก่นสารสินธุ์ ก้าวข้ามภัยโควิด-19 สร้างความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน

กขป.เขต 7 เมืองร้อยแก่นสารสินธุ์ ก้าวข้ามภัยโควิด-19 สร้างความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน

กขป. เขตพื้นที่ 7 บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน ร่วมคิด ร่วมขับเคลื่อนคนเมืองร้อยแก่นสารสินธุ์ ด้วย 2 แนวทางสำคัญ สู่ 4 ผลลัพธ์ทิศทางใหญ่ และ 6 ผลลัพธ์รูปธรรม
ก้าวข้ามภัยโควิด-19 วางแผนสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างมั่นคงและยั่งยืน

   เรื่องเล่าพลังชุมชนสู้ภัยโควิด-19 ฉบับนี้ นาย“สุชน” จะพาเลาะอีสานกลางกับผู้บ่าวขาเลาะกันบ้างครับ ไปติดตามบทบาทของคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนเขตพื้นที่ 7 (กขป.7) โดยการนำของอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสุทธินันท์ บุญมี กรรมการสุขภาพแห่งชาติ และประธาน กขป.เขตพื้นที่ 7 พร้อมทีมงานพาไปพื้นที่อีสานกลาง กลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์
 
   ในห้วงเวลาที่ภัยโควิด-19 เข้ามาเยือน กขป.เขต 7 ได้ปรับตัวอย่างรวดเร็วโดยหยิบยกเรื่องความมั่นคงทางอาหารเพื่อรองรับสถานการณ์โควิด-19 มาเพิ่มเติม จากเดิมที่กำหนดประเด็นขับเคลื่อนนโยบายในพื้นที่ ไว้ 2 ประเด็นหลัก คือ การบริโภคเพื่อป้องกันพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี และการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ ที่เน้นบทบาทของพระสงฆ์ในการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน หรือ “พระดูแลโยม”
 
   เนื่องจากเป็นการวางแผนดำเนินงานกันทั้งพื้นที่เขต จึงมีองค์กรภาคีจำนวนมากทั้งทีมสมัชชาสุขภาพจังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ เครือข่ายสมาคมหมออนามัย กระบวนจังหวัดและสภาองค์กรชุมชน กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ หรือ “กองทุนสุขภาพตำบล” ใน 64 ตำบล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)
 
   ขั้นแรกจึงต้องเริ่มจากการทบทวนทุนทรัพยากร แผนงาน/โครงการ/กิจกรรม และงบประมาณในปี 2563 ขององค์กรภาคีเพื่อวางแผนบูรณาการงานร่วมกันครับ ซึ่งก็มีทั้งโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในชนบท และโครงการส่งเสริมเกษตรผสมผสานเพื่อสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหาร ของ พอช. โครงการพัฒนาระบบการจัดการป้องกันควบคุมโรคติดต่อ COVID-19 แบบบูรณาการในระดับตำบล ของสมาคมหมออนามัย โครงการพัฒนากลไกสนับสนุนการเชื่อมประสานภาคีเครือข่ายสุขภาวะภาคอีสาน ของ สสส. โครงการความร่วมมือเพื่อรองรับผลกระทบโครงการบูรณาจากภัยโควิด 19 ในเขตสุขภาพที่ 7 ของ กขป. 7 โครงการพัฒนาและขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพเฉพาะพื้นที่ระดับเขต เขตพื้นที่ 7 และโครงการขับเคลื่อนสมัชชาสุขภาพจังหวัด ปี 2563 ของ สช.
 
   หลังจากรู้จักทุน รู้จักทีม ขั้นต่อไปจึงเป็นการเปิดเวทีระดมความเห็น เพื่อหาแนวทาง “การขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการเพื่อรองรับผลกระทบจากภัยโควิด-19” ร่วมกัน เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 โดยมีตัวแทนจากสภาองค์กรชุมชนจาก 64 ตำบลในโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในชนบท ประธานกองทุนสุขภาพตำบล อปท. ผู้แทนสมาคมหมออนามัย ชมรมหมออนามัย ที่ปรึกษา คณะทำงานจาก 4 จังหวัดในเขตสุขภาพฯ พื้นที่ 7 ผู้แทน สช. สปสช. กขป.เขต 7 พอช. และภาคีเครือข่ายกว่า 300 คนเลยครับ...ไม่ต้องตกใจครับ เขาจัดประชุมแบบนิวนอมอล มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19อย่างเข้มแข็งสุดๆ
 
   พี่ศักดิ์เจริญ ภวภูตานนท์ เลขานุการ กขป.เขตพื้นที่ 7 เล่าให้ผมฟังว่า ที่ประชุมได้กำหนดผลลัพธ์ร่วมกันภายใต้แผนงานบูรณาการฯปี 2563 ไว้ 2 ส่วนคือ 4 ผลลัพธ์ทิศทางใหญ่ และ 6 ผลลัพธ์รูปธรรม
 
   4 ผลลัพธ์ทิศทางใหญ่ ได้แก่ 1) การมีแผนปฏิบัติการของแต่ละจังหวัด 2) การมีทีมพี่เลี้ยงจังหวัด ที่จะหนุนเสริมการทำงานร่วมกันในพื้นที่ทั้ง 64 ตำบล เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในชุมชนให้เป็นรูปธรรม 3) การบูรณาการงานในระดับตำบล และ 4) การโชว์และแชร์ประสบการณ์ความสำเร็จร่วมกัน
 
   ส่วน 6 ผลลัพธ์รูปธรรม ที่จะเกิดขึ้นภายในเดือนธันวาคมนี้ คือ 1) เกิดทีมงานบูรณาการระดับตำบล 64 ตำบล 2) รายงานการถอดบทเรียนการดำเนินงานต้านภัยโควิด-19 ที่ผ่านมาของภาคประชาสังคมในพื้นที่ 3) กิจกรรมรูปธรรมของการสร้างระบบความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ 4) แผน/โครงการ/กิจกรรม ที่จะนำไปสู่การจัดระบบความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ เพื่อพร้อมดำเนินการในปี 2564-2565 โดยจะขอรับการสนับสนุนจากกองทุนสุขภาพตำบลและ อปท. 5) พื้นที่ตำบลมีความพร้อมและมีแนวทางในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพประชาชน 6) ทีมที่ปรึกษา/พี่เลี้ยง ระดับจังหวัด/ อำเภอที่มีศักยภาพ พร้อมให้การสนับสนุนทีมตำบล
 
   พี่ศักดิ์เจริญ เล่าถึง 2 แนวทางสำคัญที่จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ข้างต้น คือ ความร่วมมือที่เกิดจากการประสานงานในแนวราบ ที่มาจาก 3 ภาคส่วน คือ ภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคม และ การใช้ศูนย์เรียนรู้ของชุมชนเป็นศูนย์ประสานงานที่เชื่อมโยงกิจกรรมจากทุกหน่วยงานภาคี โดยใช้กลไกสภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นกลไกหลักในการประสานเชื่อมโยงความร่วมมือ
 
   ต้องบอกว่า กขป. เขตพื้นที่ 7 ได้ก้าวข้ามโรคโควิด-19 ไปไกลจนได้เริ่มวางแผนบูรณาการสร้างความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่กันแล้ว ไว้มีโอกาสผมจะพาไปเลาะดูรูปธรรมความสำเร็จอีกครั้ง ติดตามกันต่อนะครับ