คนเมืองเพชร รวมพลังสร้างความมั่นคงทางอาหาร เพื่ออนาคตอยู่รอดได้ในทุกวิกฤต

คนเมืองเพชร รวมพลังสร้างความมั่นคงทางอาหาร เพื่ออนาคตอยู่รอดได้ในทุกวิกฤต

คนเมืองเพชร รวมพลังสร้างความมั่นคงทางอาหาร เพื่ออนาคตอยู่รอดได้ในทุกวิกฤต

ขบวนองค์กรชุมชนและสมัชชาสุขภาพจังหวัดเพชรบุรี รวมพลังภาคีเครือข่ายและพลเมืองตื่นรู้ สร้างความร่วมมือบูรณาการขับเคลื่อน สร้างความมั่นคงทางอาหารบนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง ฟื้นฟูผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 นำไปสู่การพึ่งพาตนเองและอยู่รอดได้ในทุกวิกฤติ

   สวัสดีครับ ชาวชุมชนคนเข้มแข็งทุกท่าน ฉบับนี้ “สุชน” จะพาทุกท่านไปจังหวัดเพชรบุรี ไปติดตาม“คนเมืองเพชร” ร่วมกันหารือถึงอนาคต หลังผ่านวิกฤติโควิด-19 ซึ่งทำให้เห็นความไม่แน่นอน หากไม่จัดระบบรองรับที่ดี หากต้องเผชิญวิกฤติโรคหรือวิกฤติใด ๆ ก็ตาม ชุมชนจะสามารถพึ่งพาตนเองและอยู่รอดได้อย่างไร
 
   ในสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 จังหวัดเพชรบุรี ก็ได้รับผลกระทบด้วย แม้จะไม่มากนัก จำนวนผู้ติดเชื้อ การกักกันโรค การเตรียมมาตรการดูแลป้องกันโรคก็พาทุกคนผ่านไปได้ด้วยดี แต่ก็ทิ้งร่องรอยให้เห็นว่า ความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ในเรื่อง “อาหาร” ปัจจัยหลักหนึ่งในสี่ของชีวิต เป็นเรื่องสำคัญ
ที่ทุกฝ่ายต้องเตรียมการ หากเกิดวิกฤตโรคระบาดรอบสองหรือสถานการณ์อื่น ๆ ถ้าคนในชุมชนสามารถเข้าถึงแหล่งอาหาร ผู้คนทุกกลุ่มรวมถึงคนเปราะบางมีกิน มีขาย มีแบ่งปันน่าจะเป็นทางออกสำคัญที่ต้องเตรียมการ

 
   เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดเพชรบุรีและคณะทำงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดเพชรบุรี จึงร่วมกับหน่วยงานภาคีในจังหวัด จัดเวที “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้..สู้ภัยโควิด 19 สร้างความมั่นคงทางอาหาร” ขึ้น มีภาคประชาชนและผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมมากมาย เช่น อบจ.พัฒนาสังคมฯจังหวัด สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี พัฒนาชุมชนจังหวัด มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี สหกรณ์บริการสินค้าเกษตรอินทรีย์เพชรบุรีจำกัด วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียงตำบลช่องสะแก และยังมีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เข้าร่วมด้วย
 
   รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นางวันเพ็ญ มังศรี ซึ่งได้ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดเวทีและให้กำลังใจทุกฝ่าย พร้อมทั้งให้คำมั่นว่ายินดีที่จะร่วมกับภาคีทุกภาคส่วนในการผลักดันการสร้างความมั่นคง
ทางอาหารของจังหวัดเพชรบุรีให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์จังหวัดเพชรบุรี
ด้วยครับ

 
   ผมได้พบกับ พี่วิเชียร เรียบร้อย ประธานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดเพชรบุรีและคณะทำงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดเพชรบุรี ที่บอกเล่าถึงที่มาและวัตถุประสงค์ของเวทีนี้ว่า “ที่ผ่านมา ภาคประชาชนคนเมืองเพชรมีการผนึกกำลังและขับเคลื่อนการทำงานที่ค่อนข้างเข้มแข็งมาก โดยได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาและพยายามฟื้นฟูผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ร่วมกับหน่วยงานภาคี ซึ่งการสร้างความมั่นคงทางอาหารเป็นทิศทาง
ที่ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญและเห็นควรมุ่งเน้นให้เกิดการดำเนินงานร่วมกัน”
เวทีฯ วันนี้จึงจะมีการวิเคราะห์สถานการณ์ระหว่างและหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกำหนดแนวทางหรือทิศทางในการบูรณาการการขับเคลื่อนงานสร้างความมั่นคงทางอาหารร่วมกันของทุกฝ่ายในจังหวัดเพชรบุรี

 
   นับเป็นโชคดีของผมมาก ๆ ที่ได้ฟังปาฐกถาพิเศษเรื่อง “พลเมืองตื่นรู้ ผ่านรูปธรรมการสร้างความมั่นคงทางอาหารบนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง” จาก ลุงน้อย สุริยะ ชูวงศ์ “เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติและปราชญ์ท้องถิ่น” ที่ได้เล่าถึงประสบการณ์จริงจากการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้สร้างความมั่นคงทางอาหารที่เน้นการพึ่งพาตนเอง จนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันของชุมชนต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้อย่างดี ประสบการณ์ของลุงน้อยร่วม 35 ปี ได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า หากพื้นที่ใดมีความมั่นคงทางอาหารแล้ว ไม่ว่าจะเผชิญกับวิกฤติใด ๆ ก็ตาม ชุมชนก็จะสามารถพึ่งพาตนเองและอยู่รอดได้
 
   ปากฐถาของคนธรรมดาที่ไม่ธรรมดาเช่นลุงน้อย ได้จุดประกายความเชื่อมั่นในการพึ่งพาตนเอง
ด้านเกษตรและอาหารได้อย่างดีเยี่ยมเลยครับ แรงบันดาลใจจัดเต็มมาขนาดนี้แล้ว ผู้เข้าร่วมประชุมก็ได้หารือกันต่อถึงแนวทางรองรับสถานการณ์วิกฤติในอนาคตทันที เริ่มจากการเสวนา “กระบวนการสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารในสถานการณ์โควิด-19” ที่มีผู้เข้าร่วมเสวนาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี สหกรณ์บริการสินค้าเกษตรอินทรีย์เพชรบุรี จำกัด วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียงตำบลช่องสะแก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และ สช.

 
   การหารือในเวทีวันนี้ ทำให้เห็นถึงแนวทางการพัฒนาต่อยอดเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ทั้งการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การหาช่องทางสร้างรายได้ให้ชุมชน การสร้างระบบเพื่อเตรียมความพร้อมและการสร้างความเข้มแข็งของพื้นที่ด้านความมั่นคงทางอาหารเพื่อรองรับวิกฤติใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยนำสถานการณ์จากโควิด-19 นี้มาใช้เป็นบทเรียน และอนาคตก็มุ่งพัฒนาให้เรื่องการสร้างความมั่นคงทางอาหารเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของจังหวัดเพชรบุรีต่อไปครับ นี่คืออีกหนึ่งเรื่องราวดีดี ของคนเพชรที่เตรียมพร้อมรองรับอนาคตครับ แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดีครับ