“ก้าวที่กล้าของชุมชน กับกลยุทธ์ป่าล้อมเมือง สู่เขื่องในเมืองแห่งความสุข”

“ก้าวที่กล้าของชุมชน กับกลยุทธ์ป่าล้อมเมือง สู่เขื่องในเมืองแห่งความสุข”

“ก้าวที่กล้าของชุมชน กับกลยุทธ์ป่าล้อมเมือง สู่เขื่องในเมืองแห่งความสุข”

ชาวอำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ใช้ความกล้า ก้าวข้ามความกลัวและลงมือทำ โดยใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมืองหนุนจนเกิดธรรมนูญสุขภาพอำเภอ สานพลังเป็นเนื้อเดียวกัน ขยายดอกผล มุ่งสู่เป้าหมายใหญ่ คือ เขื่องในเมืองแห่งความสุข

   สวัสดีเพื่อนพี่น้องชุมชนคนเข้มแข็งทุกท่าน เรื่องเล่าฉบับนี้ “สุชน” ขอพาไปเยี่ยมยามอีกหนึ่งอำเภอของจังหวัดอุบลราชธานี คือที่อำเภอเขื่องใน ซึ่งที่นี่ชาวบ้านเขารวมพลังและมีเส้นทางการเติบโต เข้มแข็งของชุมชนจากระดับตำบลไปสู่ระดับอำเภอที่น่าสนใจมากเลยนะครับ
 
   คุณเสาวนีย์ กิตติพิทยานนท์ หรือ พี่แหม่ม พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเขื่องใน เล่าให้ผมฟังถึงจุดเปลี่ยนจากความกล้า ๆ กลัว ๆ มาสู่ความสำเร็จในปัจจุบัน มีจุดเริ่มต้นมาจากปี 2560 เมื่ออำเภอเขื่องจัดเวทีประชาคมธรรมนูญตำบลในประเด็นงานศพปลอดเหล้า ซึ่งชาวบ้านบางคนลุกขึ้นแย้งกลางเวทีประชาคมว่า ทำไม่ได้ด้วยเหตุผลต่าง ๆ แต่สุดท้ายชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นถึงประโยชน์ของมาตรการงานศพปลอดเหล้า จึงตกลงกันว่า “เอาน่า.!...ลองดู ถึงแม้จะได้ผลหรือไม่ก็ตาม”
 
   เมื่อประกาศใช้ธรรมนูญตำบลได้แล้ว ทั้งผู้นำหมู่บ้าน และ อสม. ก็เดินหน้าช่วยกันประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับพี่น้องในชุมชน ซึ่งทีมทำงานต่างบอกตรงกันว่า มาตรการงานศพปลอดเหล้าเป็นเรื่องยากและลำบากใจมาก ๆ เพราะเจ้าภาพงานเป็นบุคคลสำคัญที่ต้องยินดีให้ร่วมมือด้วย แต่แรก ๆ พบว่า แม้กระทั่งการแขวนป้าย “งานศพปลอดเหล้า” เจ้าภาพก็ยังไม่กล้าแขวนเพราะกลัวถูกนินทาครับ
 
   จากจุดเริ่มต้นที่กลัว ๆ กล้า ๆ พอได้ทดลองทำขับเคลื่อนจริง...จากแรก ๆ ที่ทำได้ไม่กี่หมู่บ้าน แต่พอนานวันเข้า จากไม่กี่หมู่บ้านก็ขยายทำได้ครบทุกหมู่บ้าน กลายเป็นป่าล้อมเมืองไปเอง จนมาถึงตอนนี้ผ่านไป 3 ปี พบว่า พฤติกรรมของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไป คือ เมื่อมีคนเสียชีวิตในหมู่บ้าน เจ้าภาพงานจะเป็นคนมาขอป้ายงานศพปลอดเหล้าไปติดที่บ้านงานเอง สุดยอดไปเลยใช่ไหมครับ
 
   พี่แหม่ม เล่าต่อว่า จากที่เริ่มทำธรรมนูญตำบล และทำได้สำเร็จไปแล้วถึง 16 ตำบล โดยมีเป้าหมาย ที่จะประกาศใช้ธรรมนูญตำบลให้ครบทั้ง 18 ตำบล จนเมื่อมาประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 จึงได้นำแนวคิดและกระบวนการจัดทำธรรมนูญตำบล มายกระดับเป็น “ธรรมนูญอำเภอเขื่องในว่าด้วยการป้องกันควบคุมและแก้ไขปัญหาโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี” และสามารถประกาศใช้ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2563 โดยที่อำเภอเขื่องใน มีการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนในพื้นที่ จนสามารถป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ได้เป็นอย่างดีครับ
 
   หลังจากนั้น คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอเขื่องใน หรือ พชอ.เขื่องใน ที่มีนายอำเภอเขื่องใน นายสันติพงษ์ สมศรี เป็นประธานและ นายชูวิทย์ ธานี สาธารณสุขอำเภอเป็นเลขานุการ ได้ขยับขยายต่ออีกขั้น โดยได้เป็นกลไกสำคัญจัดกระบวนการทำธรรมนูญอำเภอ จนสามารถประกาศใช้ "ธรรมนูญอำเภอเขื่องใน เมืองแห่งความสุข" เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยนายอำเภอเขื่องในมาเป็นประธานประกาศเจตนารมณ์ด้วยครับ
 
   เท่าที่ผมได้สอบถามมา ได้ความว่า การขยับจากธรรมนูญตำบลมาสู่ธรรมนูญอำเภอนั้น เกิดจากความตั้งใจและเห็นความสำคัญของนายอำเภอเขื่องใน ที่เน้นย้ำเสมอว่า “กระบวนการได้มาของธรรมนูญตำบลหรือธรรมนูญอำเภอมีความสำคัญ เพราะอย่างน้อยคือ หลายคนมาร่วมกันตั้งเป้าหมายที่อยากเห็น อยากเป็น มาวางแนวทางปฏิบัติร่วมกัน โดยยังไม่คิดถึงว่าทำได้หรือทำไม่ได้ แต่หากตั้งไว้เป็นแนวทางแล้วรวมพลังขับเคลื่อนตาม ก็จะสำเร็จ แม้จะเกิดผลลัพธ์ได้เพียงเล็กน้อยก็ตาม”
 
   พี่แหม่มยังได้ทิ้งท้ายไว้อีกด้วยว่า “ทุกครั้งที่ได้มีโอกาสลงไปร่วมการทำประชาคม รู้สึกถึงพลังเสียงของคนในชุมชน ..มันเป็นเวทีที่เราได้ปรับจูนความเข้าใจ และรับฟังเสียงจากคนที่หลากหลาย ....มีความสนุกไปในตัว..ยิ่งท่านนายอำเภอ และหัวหน้า คือ สาธารณสุขอำเภอ เห็นความสำคัญในหลักการ ที่จะเชื่อมพลังจากภาคี ให้มาร่วมกันทำงานได้...ช่วยเหลือกันได้...ตอนนี้เราทำงานร่วมกันแบบเนียนจนแทบจะเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว...เพราะ..คนเขื่องในไม่ทิ้งกัน..และนำไปสู่ เขื่องในเมืองแห่งความสุข ทั้งในเรื่องความอยู่ดีกินดี คุณภาพชีวิตที่ดี ที่ยึดเป็นเป้าหมายและเครื่องมือร่วมกันของคนเขื่องในทุกคน เป็นโอกาสในการดึงความร่วมมือในการทำงานพัฒนาร่วมกันได้อย่างดี”
 
   ผมสัมผัสได้ถึงความกล้าในการก้าวข้ามความกลัวและลงมือทำจริงของชาวเขื่องใน จนเห็นผลสำเร็จ ที่น่าภาคภูมิใจเช่นวันนี้แล้ว ก็ดีใจแทนชาวอำเภอเขื่องในทุกคนครับ แล้วพบกันใหม่ฉบับต่อไปครับ