พชอ. กลไกหลัก สสจ. กลไกประสานทุกความร่วมมือ สู่ชัยชนะที่กาญจนบุรี

พชอ. กลไกหลัก สสจ. กลไกประสานทุกความร่วมมือ สู่ชัยชนะที่กาญจนบุรี

พชอ. กลไกหลัก สสจ. กลไกประสานทุกความร่วมมือ สู่ชัยชนะที่กาญจนบุรี

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) กาญจนบุรี ชวนแกนนำทุกภาคส่วน ทั้ง พชอ. ท้องที่ ท้องถิ่น อสม. และ ภาคประชาชน จาก 14 อำเภอ ร่วมถอดบทเรียนความสำเร็จการขับเคลื่อนมาตรการชุมชนสู้ภัยโควิด-19 พบบทเรียนสำคัญคือ ความสำเร็จและชัยชนะจากวิกฤตินี้ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง

   สวัสดีครับ ชาวชุมชนเข้มแข็งทุกท่าน วันนี้ “สุชน” พาไปชมผลงานเยี่ยมระดับจังหวัดที่กาญจนบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดใหญ่ แต่สามารถจัดการกับการระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้อยู่หมัด ไปเลาะขอบเวทีถอดบทเรียนรวมพลังชุมชนในการป้องกันควบคุมการระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของจังหวัดกาญจนบุรีกับผมกันครับ
 
   ต้องบอกก่อนว่ากาญจนบุรีเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่กว้างขวางมากนะครับ จัดเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศไทย เป็นรองก็แต่นครราชสีมากับเชียงใหม่ จังหวัดนี้มีถึง 14 อำเภอ การทำงานของจังหวัดจึงต้องแบ่งเป็น 4 โซนเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการครับ แต่ละโซนจะมีบริบทพื้นที่ใกล้เคียงกันมาก ได้แก่ โซนที่ 1 คือ อำเภอเมืองและอำเภอท่ามะกา โซนที่ 2 คือ อำเภอไทรโยค อำเภอทองผาภูมิ และอำเภอสังขละบุรี โซนที่ 3 คือ อำเภอบ่อพลอย อำเภอเลาขวัญ อำเภอหนองปรือ และอำเภอห้วยกระเจา และสุดท้ายโซนที่ 4 คือ อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอท่าม่วง อำเภอพนมทวน และอำเภอด่านมะขามเตี้ยครับ
 
   ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่จังหวัดกาญจนบุรีนี้ก็มีการทำงานร่วมกัน
อย่างใกล้ชิดเลยครับ โดยมีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เป็นแกนประสานกลางกับทั้ง 14 อำเภอ
ใน 4 โซน และมีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน
เรื่องนี้อย่างแข็งขัน

 
   เมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี จึงได้เชิญเหล่าขุนพลด่านหน้าจากทุกอำเภอ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิควิธีการและถอดบทเรียนความสำเร็จในการจัดการป้องกันควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ของแต่ละอำเภอ เพื่อนำไปสู่การแนวทางในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในอนาคตกันครับ ซึ่งมีพี่ ๆ สาธารณสุขอำเภอ ท้องที่ ท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และแกนนำชาวบ้านเข้าร่วมเวทีกันอย่างคึกคักกว่า 150 คน และมีทีมวิชาการของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รับหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการนำการถอดบทเรียน
ครั้งนี้ครับ

 
   ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรค พี่ ๆ บอกว่า ชาวบ้านในพื้นที่ตื่นตระหนกกันมาก เพราะมีข้อมูลว่า
พบผู้ป่วยยืนยันใน 3 อำเภอ ซึ่งทำให้มีผู้ใกล้ชิดเป็นผู้เสี่ยงสัมผัสสูงด้วย และมีกลุ่มเสี่ยงที่กลับจากพื้นที่เสี่ยง ประชาชนในพื้นที่จึงรู้สึกวิตกกังวล หวาดกลัว เกิดความเครียดในการใช้ชีวิตประจำวัน ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมมาก ๆ ครับ

 
   แต่ด้วยความร่วมไม้ร่วมมือจากทุกภาคส่วนในทุกระดับ ได้แก่ อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยมี พชอ. เป็นกลไกหลักในระดับอำเภอ ออกแรงอย่างเต็มที่ด้วยการจัดตั้งคณะทำงานป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ทั้งระดับอำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน มีการกำหนดมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างชัดเจน โดยปรับใช้มาตรการจากที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ เริ่มจากมาตรการสำรวจข้อมูล สำรวจพื้นที่และตั้งจุดคัดกรองคนเข้าออกพื้นที่อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะบริเวณชายแดนที่ติดกับประเทศเมียนมา มีการเฝ้าระวังติดตามอาการของกลุ่มเสี่ยงและผู้กักตัว 14 วัน โดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. และภาคีเครือข่ายในทุกหมู่บ้าน และมีทีมหมอครอบครัวเยี่ยมให้กำลังใจ พร้อมทั้งประเมินความเครียด ผ่านแอปพลิเคชันของกรมสุขภาพจิต
 
   พี่ ๆ อสม.ลุยเคาะประตูบ้านให้ความรู้ทุกครัวเรือน นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำ SPOT Map ของกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มผู้ป่วย อปท. ก็ช่วยจัดหาวัสดุอุปกรณ์และกระจายทรัพยากรในการป้องกันโรคให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงอย่างทั่วถึง ทั้งหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ เครื่องวัดอุณหภูมิ สำหรับร้านค้า ตลาดสด ตลาดนัด
ในชุมชนก็ให้ความร่วมมือจัดบริการเจลล้างมือ เข้มงวดกับการเว้นระยะห่างในการค้าขาย นอกจากนั้น ยังมีการกำหนดแนวทางช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 เช่น มอบถุงยังชีพ จัดทำครัวคนกาญจน์ต้านโควิด การจ้างงานในพื้นที่ และการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในรูปแบบอื่น ๆ ของชุมชนด้วยครับ

 
   จนได้รับผลสำเร็จ คือ ณ วันที่ 30 สิงหาคมนี้ ผู้ป่วยยืนยันสะสม 8 รายของจังหวัดกาญจนบุรี ทุกรายรักษาหายและกลับบ้านหมดแล้ว ปัจจุบันยังไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม รวมถึงไม่พบผู้เสียชีวิตในพื้นที่เลยครับ ผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น กลับมาจากต่างประเทศก็ยังมีระบบกักตัวในสถานที่กักตัวของท้องถิ่น (Local Quarantine) ประชาชนยังคงให้ความร่วมมือและมีความรู้ในการควบคุมและเฝ้าระวังโรคโควิด-19 อย่างดีเยี่ยม แม้ช่วงนี้จะมีข่าวการระบาดระลอก 2 ของประเทศเพื่อนบ้าน แต่หลายส่วนก็คลายความวิตกกังวล และเข้าใจถึงการใช้ชีวิตแบบ New Normal เพื่อดูแลตนเอง ครอบครัวและชุมชนให้ห่างจากโรคมากที่สุดครับ
 
   ส่วนปัจจัยที่ทำให้เกิดผลสำเร็จนั้น พี่ ๆ เห็นตรงกันว่า ทีมทำงานทุกระดับมีความพร้อม โดยเฉพาะ อสม. มีความเข้มแข็ง เสียสละ ทุ่มเททำงานอย่างเต็มกำลัง และทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี สนับสนุนทั้งงบประมาณและทรัพยากรต่าง ๆ มีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่ชัดเจนและรวดเร็ว ที่สำคัญ คือ ความตระหนักของประชาชนที่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการอย่างเข้มงวด
 
   รวมพลังกันอย่างเข้มแข็งแบบนี้ วิกฤติใด ๆ ชาวจังหวัดกาญจนบุรีก็รับมือได้สบาย จริงไหมครับ แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้านะครับ