โควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า คืออะไร

นอกจากคำเรียกชื่อสายพันธ์ุของเชื้อโควิด-19 ที่เราเคยเห็นเรียกกันตามชื่อประเทศที่พบสายพันธุ์นั้นๆ ครั้งแรกแล้ว เรายังมีการเรียกชื่อสายพันธุ์ว่าอัลฟ่า เบต้า แกมมา และเดลต้า อีกด้วย

โควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า คืออะไร
องค์การอนามัยโลก (WHO) เปลี่ยนชื่อในการเรียกสายพันธุ์โควิด-19 จากชื่อประเทศที่พบเชื้อโควิดครั้งแรก เป็นระบบตัวอักษรภาษากรีก เช่น อัลฟ่า เบต้า แกมมา และเดลต้า เพื่อลดการตีตราประเทศนั้นๆ

โดยมีการบัญญัติชื่อเรียกสายพันธุ์โควิดใหม่ ดังนี้
สายพันธุ์อังกฤษ (B.1.1.7) คือ สายพันธุ์อัลฟ่า (A)
สายพันธุ์แอฟริกาใต้ (B.1.351) คือ สายพันธุ์เบต้า (B)
สายพันธุ์บราซิล (P.1) คือ สายพันธุ์แกมมา (Γ)
สายพันธุ์อินเดีย (B.1.617.2) คือ สายพันธุ์เดลต้า (Δ)
รวมไปสายพันธุ์อื่นๆ ที่เริ่มเป็นที่จับตามองมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน ก็เปลี่ยนระบบการเรียกชื่อด้วยเช่นกัน ดังนี้
สายพันธุ์สหรัฐฯ (B.1.427/429) คือ สายพันธุ์เอปไซลอน (Ε)
สายพันธุ์บราซิล (P.2) คือ สายพันธุ์ซีตา (Z)
สายพันธุ์ที่พบในหลายประเทศ (B.1.525) คือ สายพันธุ์อีต้า (H)
สายพันธุ์ฟิลิปปินส์ (P.3) คือ สายพันธุ์ทีต้า (Θ)
สายพันธุ์สหรัฐฯ (B.1.526) คือ สายพันธุ์ไอโอตา (I)
สายพันธุ์อินเดีย B.1.617.1 คือ สายพันธุ์กัปปะ (K)
ดังนั้น โควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า คือ สายพันธุ์อินเดียนั่นเอง

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า สายพันธุ์โควิดที่พบในประเทศไทยมีอยู่หลายสายพันธุ์ แต่จากการตรวจสอบสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทย จากตัวอย่างเชื้อที่ส่งข้ามายังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระหว่างวันที่ 7 เม.ย.-13 มิ.ย. จำนวน 5,055 ตัวอย่าง พบว่าส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) 4,528 ราย คิดเป็น 89.6% สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) เพิ่มขึ้นจาก 359 รายที่รายงานไปก่อนหน้านี้ เป็น 496 คน หรือเพิ่ม 137 ราย มากสุดคือ กทม.สะสม 404 ราย โดยเป็นรายใหม่ 86 ราย และ ยังพบ 10 ราย ในรพ.กลางกรุงเทพฯ 3-4 แห่ง อัตราการเพิ่มขึ้น จาก 8% เป็น 9.8%

นอกจากนี้ ยังพบที่ ปทุมธานี 28 ราย นครนายก 8 ราย สกลนคร 3 ราย พะเยา 2 ราย อุบลราชธานี 2 ราย เชียงราย เพชรบูรณ์ ชลบุรี จันทบุรี ขอนแก่น อุดรธานี เลย และบุรีรัมย์ จังหวัดละ 1 ราย ขณะที่สายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) ที่เริ่มพบที่อำเภอตากใบจังหวัดนราธิวาสเดิมพบ 26 ราย ขณะนี้พบเพิ่มอีก 2 ราย นอกอำเภอตากใบ แต่ยังอยู่ในจังหวัดนราธิวาส ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ นอกจากนี้ ยังพบอีก 3 ราย สถานกักกันตัวของรัฐจ.สมุทรปราการ

โควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า อันตรายมากแค่ไหน
ความสามารถในการแพร่เชื้อของโควิดสายพันธุ์เดลต้า มากกว่าสายอัลฟ่า 40% จึงต้องมีการจับตาอย่างใกล้ชิด เป็นรายสัปดาห์ หากสถานการณ์ยังทรงๆ อาจจะไม่มีปัญหาแต่หากยังมีการแพร่ระบาดแบบก้าวกระโดด คาดว่าประมาณ 2-3 เดือน อาจจะเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดมากขึ้นสัดส่วนครึ่งต่อครึ่งกับสายพันธุ์อัลฟ่า 

ส่วนในต่างจังหวัดที่พบเชื้อสายพันธุ์เดลต้านั้นพบว่ามีความเชื่อมโยงกับผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ มาก่อน โดยเฉพาะแคมป์คนงานหลักสี่

วัคซีนในประเทศไทย ป้องกันจากโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าได้หรือไม่
นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการศึกษาวิจัยการเพิ่มภูมิคุ้มกันโรคหลังฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ใน 200 คน โดยนำเลือด หรือซีรั่ม มาตรวจสอบกับเชื้อโควิดสายพันธุ์ต่างๆ พบว่าเมื่อตรวจกับเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิมพบว่ามีภูมิฯ ขึ้นสูง 100% สายพันธุ์อัลฟ่า ภูมิขึ้น 50-60% จะมีตรวจเพิ่มเติมในผู้ที่ฉีดครบ 2 เข็มแล้วเป็นเวลา 3 เดือน 6 เดือน อีกครั้ง และขณะนี้กำลังทดสอบในคนฉีดวัคซีนของแอสตร้าฯ 1 เข็ม รวมทั้งจะทำการทดสอบกับเชื้อเดลตา และเบต้า เพื่อดูถึงประสิทธิภาพวัคซีนที่ได้รับขณะนี้

ข้อมูลล่าสุดจากการสุ่มตรวจเพื่อถอดรหัสพันธุกรรมสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทย ที่ศูนย์จีโนมฯ ร่วมกับ CONI วิจัย พบว่าขณะนี้ 71% เป็นสายพันธุ์อัลฟ่าที่ยังครองพื้นที่อยู่ 22% เป็นสายพันธุ์เดลต้า และ 3% เป็นสายพันธุ์เบต้า อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่เราใช้อยู่ขณะนี้ยังใช้ได้ผลกับ 2 สายพันธุ์ดังกล่าว การระบาดที่รวดเร็วโดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า จำเป็นต้องเร่งปูพรมฉีดวัคซีน จึงอยากให้ทุกคนเข้ารับวัคซีน ต้องดูแนวโน้มอีก 1 เดือนจะเห็นผลมากขึ้นว่าสายพันธุ์เดลต้าจะครองพื้นที่หรือไม่ หากถอดรหัสพันธุกรรมไปแล้วเกิน 50% ก็มีความแน่นอนว่าสายพันธุ์เดลต้าจะครองพื้นที่แทนอัลฟ่า

ขอขอบคุณ บทความจากการเขียนของคุณ Jurairat N. ขอบคุณ เว็บไซต์ www.sanook.com ขอบคุณภาพประกอบจาก  TNN Online

รูปภาพ: