ชาวอรัญประเทศ รวมพลังบวรสู้ภัยโควิด 19

ชาวอรัญประเทศ รวมพลังบวรสู้ภัยโควิด 19

ศูนย์เก็บตัวเพื่อเฝ้าระวังโรค ระดับท้องถิ่น (Local Quarantine) ที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว มีจำนวนมากถึง 16 แห่ง ครบทั้ง 13 ตำบล ได้ใช้การรวมพลัง “บวร” บ้าน วัด ราชการ สู้ภัยโควิด 19 ดูแลทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ และสุขภาพสังคมไปพร้อมกัน และเชื่อมั่นว่าคนอรัญฯ จะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ด้วยดี

   ฉบับนี้ “สุชน” ชวนพี่น้องชุมชนเข้มแข็งไปที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ดินแดนภาคตะวันออก กันครับ
 
   ผมขอเริ่มต้นที่กลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ หรือ พชอ. อรัญประเทศซึ่งมี นายอำเภอสวนิต สุริยกุล ณ อยุธยา เป็นประธาน พชอ. กลไกนี้...ทำงานเข้มแข็งมาต่อเนื่อง เมื่อปลายปีที่แล้วก็ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือหน่วยงานในอำเภอเพื่อจัดระบบการดูแลผู้สูงอายุ และการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกที่กำลังแพร่ระบาด และยังเชื่อมงานกับกลไกระดับจังหวัดด้วย
 
   เมื่อสถานการณ์โรคโควิด 19 เริ่มมาเคาะประตูเมืองอรัญประเทศ ซึ่งเป็นอำเภอชายแดนมีด่านคลองลึกติดกับประเทศเพื่อนบ้าน โอกาสแพร่ระบาดของเชื้อเป็นไปได้มาก หลังจากนายอำเภอได้แต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่ออำเภออรัญประเทศ ที่มีกรรมการจากท้องที่ ท้องถิ่น และประธาน อสม.ระดับตำบล โดยมี พี่อดุลย์ หาญชิงชัย สาธารณสุขอำเภออรัญประเทศ เป็นเลขานุการ สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการต่อไป คือการจัดตั้ง ศูนย์เก็บตัวเพื่อสังเกตอาการระดับท้องถิ่น (Local Quarantine) ซึ่งทั้งอำเภอมีศูนย์เก็บตัวฯ นี้ถึง 16 ศูนย์ กระจายอยู่ครบทั้ง 13 ตำบล เป็นศูนย์เก็บตัวฯ ที่เป็น Best Practice ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เลยนะครับ
 
   ศูนย์เก็บตัวฯ ที่นี่ โดดเด่นด้วยการจัดตั้งจากหลักคิด “พลังบวร” หรือการสานความร่วมมือของบ้าน วัด และราชการ เช่น ที่ศูนย์เก็บตัวฯ ณ สถานปฏิบัติธรรมป่าโมกข์ธรรมาราม ที่มี พระครูปลัดบัณฑิต อินฺทเมธี เป็นแกนนำสำคัญ ได้ร่วมกับ กำนันสมพิศ อัญญเวชสัมฤทธิ์ ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน อบต.หนองสังข์ รพ.สต.หนองสังข์ กำลังพลจาก ร.12 พัน 3 ค่ายสุรสิงหนาท ผมทราบมาว่าศูนย์เก็บตัวฯแห่งนี้สามารถจัดตั้งขึ้นภายใน 4 ชั่วโมง หลังจากพระครูปลัดบัณฑิตได้รับการประสานตรงจากนายอำเภออรัญประเทศ ที่สามารถจัดตั้งได้เร็วก็เพราะมีความพร้อมในด้านสถานที่ ซึ่งเป็นแหล่งอบรมผู้ปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว ปรับปรุงตามมาตรฐานสาธารณสุขได้ไม่ยาก พร้อมรับ 79 คนไทยที่กลับมาจากกัมพูชา
 
   พระครูปลัดบัณฑิต ได้เมตตาให้ข้อมูลกับผมว่า ศูนย์เก็บตัวฯ จะจัดปัจจัยสี่ให้ทุกคน ดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ มีการจัดกิจกรรมให้ผู้ที่เก็บตัวได้ทำเพื่อลดความเครียดและปรับสภาพจิตใจ ช่วงกลางวัน มีกิจกรรมสอนทำไม้กวาด ผสมปุ๋ยทำสวนเกษตร ส่วนช่วงเย็น มีการทำวัตรเย็น สวดมนต์และทำสมาธิ ทำให้คนที่มาเก็บตัวเริ่มปรับตัวได้ในวันที่ 3 – 4 จนปัจจุบัน พ้นระยะการเก็บตัว 14 วันแล้ว ทั้ง 79 คนต่างแยกย้ายกลับไปกักตัวที่บ้านกันต่อเรียบร้อยแล้ว
 
   อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือการทำความเข้าใจกับชุมชนรอบวัด ท่านได้ขออนุญาตเจ้าคณะอำเภอ เริ่มโพสต์เฟซบุ๊กของวัดประกาศเรื่องการเปิดศูนย์เก็บตัวฯ ตั้งแต่วันแรก ชี้แจงรายละเอียดถึงความพร้อม ของสถานที่และได้ปรับปรุงตามมาตรฐานไปอย่างไร ทีมงานที่เข้ามาช่วยดูแลเป็นใคร มาจากไหน จะมีคนมาเก็บตัวเท่าไหร่ ท่านยังได้ประกาศว่า นับจากปรับเป็นศูนย์เก็บตัวฯ พระจะไม่ออกไปบิณฑบาตร และญาติโยมไม่จำเป็นก็ไม่ต้องมาวัด เพื่อลดความเสี่ยงจากการกระจายเชื้อและยังเป็นต้นแบบในการควบคุม ป้องกันโรคด้วย ซึ่งในช่วงแรกก็มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ท่านยังคงโพสให้เห็นภาพกิจกรรมและผู้คนที่เก็บตัว อยู่กันแข็งแรง มีความสุขอย่างต่อเนื่อง จนชาวบ้านเข้าใจและเริ่มหันมาช่วยเหลือ บริจาคอาหารและสิ่งของสนับสนุนการเก็บตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
 
   ปัจจุบัน แม้จะไม่มีคนมากักตัวแล้ว แต่พระมหาศราวุธ จิตตฑนโต เจ้าคณะอำเภออรัญประเทศ และคณะสงฆ์ ยังได้ให้สถานปฏิบัติธรรมจัดทำเป็นโรงทานสังฆะประชาเป็นสุข ส่งอาหารกล่องและผลไม้ไปสนับสนุนศูนย์เก็บตัวทุกแห่งของอำเภออรัญประเทศด้วย
 
   พระอาจารย์ปิดท้ายว่า “เราต้องอยู่กันด้วยความรู้ ไม่อยู่กันด้วยความรู้สึก ความรู้จะทำให้ไม่เกิดความกลัว เพราะเราสามารถป้องกันได้อย่างดีและมีระบบด้วย”
 
   สาธุ และสวัสดี พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ