พิบูลมังสาหาร พชอ. จับมือ 6 ทหารเสือ รวมพลังสู้โควิด 19

พิบูลมังสาหาร พชอ. จับมือ 6 ทหารเสือ รวมพลังสู้โควิด 19

อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี รวมพลังคนหนุน คนรู้ และคนทำ โดยพชอ. ชวน 6 ทหารเสือ ร่วมกันสร้างธรรมนูญสุขภาพว่าด้วยการป้องกัน ควบคุมและแก้ไขปัญหาโรคโคโรนา 2019 (โควิด 19)ของ อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน พร้อมเคลื่อนกันทั้งอำเภอ

   สวัสดีพี่น้องชุมชนเข้มแข็งทุกท่านครับ เรื่องเล่าพลังชุมชนสู้ภัยโควิด 19 ฉบับนี้ “สุชน” ยังขอชวนกันไปต่อที่อีกหนึ่งอำเภอของจังหวัดอุบลราชธานีนะครับ ที่นี่ยังมีเรื่องราวดี ๆ ในอีกหลายพื้นที่ วันนี้เราไปที่อำเภอพิบูลมังสาหารกันบ้างครับ จะว่าไปแล้ว ธรรมนูญสุขภาพที่มีสาระเกี่ยวกับโควิด 19 ของอุบลราชธานีนั้น เริ่มต้นมาจากที่อำเภอพิบูลมังสาหารก่อน แล้วจึงขยายไปที่อำเภอโขงเจียม และอำเภอเดชอุดม
 
   พี่ชวน จันทร์เลื่อน สาธารณสุขอำเภอพิบูลมังสาหาร แกนนำคนสำคัญ เล่าให้ผมฟังว่า ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อำเภอพิบูลมังสาหารพบผู้ติดเชื้อ 2 ราย ทำให้ทุกฝ่ายตื่นตัวเร่งรีบตั้งวงหารือ โดยใช้คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ที่มี นายอำเภอฤทธิสรรค์ เทพพิทักษ์ เป็นประธาน เป็นกลไกเริ่มต้นชวนคิด ชวนคุย ทั้งในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคระดับอำเภอ การประชุมร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นการเร่งด่วน เพื่อหาทางป้องกันการแพร่ระบาดของโรคและให้เป็นไปตามแนวทางที่ภาครัฐกำหนด
 
   หลังหารือร่วมกันหลายครั้ง ทีมงานได้นำข้อมูลมาตั้งต้นยกร่าง ธรรมนูญสุขภาพตำบลว่าด้วยการป้องกันควบคุมและแก้ไขปัญหาโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อำเภอพิบูลมังสาหาร โดยได้แรงหนุนเต็มสูบจากประธาน พชอ. และได้ขอความร่วมมือไปยังผู้บริหารทั้งท้องถิ่น ท้องที่ให้เร่งยกร่างมาตรการทางสังคมของแต่ละพื้นที่ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด 19 รวมทั้งหากลวิธีขยายผลไปให้ทั่วทั้งอำเภอที่มีถึง 14 ตำบล 180 หมู่บ้าน และ 17 ชุมชน รวม 197 หมู่บ้าน โดยเร็วที่สุด
 
   เมื่อพร้อมแล้ว พี่ชวนพร้อมทีมสาธารณสุขอำเภอ ได้สนับสนุนการจัดเวทีเพื่อหาข้อตกลงร่วมต่อร่าง ธรรมนูญสุขภาพฯในระดับอำเภอ เมื่อวันที่ 1 เมษายน โดยมี 6 ทหารเสือ ได้แก่ ปลัดอำเภอ กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน นายกเทศมนตรี/อบต.ปลัดเทศบาล/อบต. ผอ.รพ.สต. และประธาน อสม. ซึ่งเป็นแกนหลักของแต่ละพื้นที่ มาร่วมร่างธรรมนูญสุขภาพฯด้วย
 
   นอกจากหารือกันภายในอำเภอแล้ว ในเวทีนี้ยังมีพี่เลี้ยงที่เป็นแกนนำและผู้ทรงคุณวุฒิระดับจังหวัดเพื่อช่วยให้คำปรึกษาทั้งด้านข้อมูล แนวคิด ทิศทางและการใช้ร่าง ธรรมนูญสุขภาพฯให้คมชัดมากขึ้น ได้แก่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ จากวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ 10 ทีมสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานี พี่จงกลนี ศิริรัตน์ นพ. วีระวัฒน์ พันธุ์ครุฑ และ ดร.วิชิต พุ่มจันทร์ นักวิชาการจากสำนักงานสาธารณสุขระดับจังหวัด เรียกได้ว่าใช้เวทีระดับอำเภอนี้เป็นทางลัดในการเรียนรู้ทั้งจาก คนหนุน คนรู้ และคนทำ ได้อย่างแยบยลมากครับ
 
   หลังจากนั้น 6 ทหารเสือก็นำ ร่าง ธรรมนูญสุขภาพฯ ดังกล่าว ไปจัดเวทีประชาพิจารณ์ในระดับตำบล เพื่อปรับปรุงสาระของธรรมนูญสุขภาพฯ ให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละตำบล และบางตำบลยังต่อยอดขยายผลไปเป็นธรรมนูญสุขภาพระดับหมู่บ้านอีกด้วยนะครับ
 
   ไม่กี่วันหลังจากนั้น ร่าง ธรรมนูญสุขภาพฯ ระดับตำบลก็ได้รับความเห็นชอบและประกาศใช้ ธรรมนูญสุขภาพว่าด้วยการป้องกันควบคุมและแก้ไขปัญหาโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในแต่ละตำบล โดยตำบลโพธิ์ไทร ตำบลทรายมูล ประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพฯ เป็นตำบลแรก ๆ เมื่อวันที่ 7 เมษายน และตำบลอื่น ๆ ก็ทยอยประกาศใช้ตามกันมาจนครบทั้ง 14 ตำบล ซึ่งเนื้อหาสาระส่วนใหญ่มีหลักการและแนวทางปฏิบัติที่สำคัญไปในทิศทางเดียวกัน แต่ใส่ใจในรายละเอียดที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ะตำบล
 
   ชาวพิบูลมังสาหาร ได้ใช้ธรรมนูญสุขภาพฯนี้เป็นมาตรการทางสังคมในการดูแล เฝ้าระวัง จัดการ การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 กันเองในชุมชน ที่เป็นความรับผิดชอบร่วมของชาวพิบูลมังสาหารทุกคน
แล้วพบกันใหม่ ฉบับหน้านะครับ