“ชาวโยธะกา เปลี่ยนตระหนกเป็นตระหนัก ปันน้ำใจสู้ภัยโควิด-19”

“ชาวโยธะกา เปลี่ยนตระหนกเป็นตระหนัก ปันน้ำใจสู้ภัยโควิด-19”

ชุมชนโยธะกา บางน้ำเปรี้ยว ฉะเชิงเทรา เปลี่ยนความตระหนกเป็นความตระหนักสู้ภัยโควิด-19 ด้วย 3 ขั้นตอน ตั้งทีมข่าวกรองและสื่อสารความรู้ เฝ้าระวังและป้องกันโรค พร้อมทั้งประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพตำบล ร่วมมือร่วมใจป้องกัน ควบคุมโรค ฟื้นฟู เยียวยาโดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง

   สวัสดีพี่น้องชุมชนเข้มแข็งทุกท่านครับ เรื่องเล่าพลังชุมชน สู้ภัยโควิด-19 ฉบับนี้ “สุชน” ขอพาไปพบปะกับพี่น้องตำบลโยธะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา กันครับ
 
   มาถึงที่นี่ ทำให้ผมเพิ่งรู้ว่าชื่อตำบลนี้ มีที่มาจากชื่อเดิมของแม่น้ำนครนายก ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “แม่น้ำโยธะกา” เพราะมีต้นโยธะกาขึ้นเรียงรายตามสองฝั่งแม่น้ำ ดอกโยธะกาที่ยังอ่อนจะมีสีเหลือง แต่เมื่อแก่แล้ว ดอกเป็นสีชมพู ฝักคล้ายกระถิน แต่น่าเสียดายนะครับ ตอนนี้ไม่มีต้นโยธะการิมแม่น้ำให้เห็นเช่นเดิมแล้ว
 
   เรื่องราวความตื่นตัวต่อโรคโควิด-19 ของคนโยธะกา เริ่มตั้งแต่ช่วงเวลาแพร่ระบาดของโรคไปทั่วประเทศ ซึ่งที่อำเภอบางน้ำเปรี้ยวพบว่ามีผู้ติดเชื้อ 2 ราย ช่วงนั้นคนโยธะกาตื่นตระหนกกันมาก พี่น้ำทิพย์
อบนวล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโยธะกา เล่าให้ผมฟังว่า “ในช่วงแรกนั้น ชาวโยธะกาเปิดรับข่าวสารเยอะมาก มีทั้งข่าวจริง ข่าวปลอม ทำให้เจ้าหน้าที่ รพ.สต. ต้องตอบคำถามและให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่อย่างหนัก”

 
   แม้จะมีคนตื่นตระหนก แต่ก็พบว่า ยังมีพี่น้องบางกลุ่มที่ไม่สนใจและไม่ตระหนักถึงอันตรายของโรคนี้ พี่น้ำทิพย์ จึงร่วมกับกำนันธีรพล อุทัยพันธุ์แห่งตำบลโยธะกา พร้อมด้วย ทีม อสม. อบต. ผู้นำศาสนา และผู้นำชุมชนร่วมกันคิดค้นหามาตรการปฏิบัติของคนในชุมชน เพื่อสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของชุมชน ในที่สุดก็เคาะแนวทางการดำเนินงานเป็น 3 ขั้นตอน ตามนี้ครับ
 
   ขั้นแรก มีการจัดตั้งทีมข่าวกรอง สื่อสารความรู้และข่าวสารการปฏิบัติตนที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันตนเองและชุมชน ผ่านวงหารือของตำบล เวทีประชุมและใช้การสื่อสารผ่านเฟซบุ๊กของ อสม. และกำนัน
 
   ขั้นที่สอง ทีม อสม. ตำบลโยธะกา ได้จัดทำโครงการเฝ้าระวังและป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และขอการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลโยธะกา ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มาดำเนินการสื่อสารให้ประชาชนมีความรู้เรื่องการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรค และจัดทำเจลล้างมือแจกจ่ายให้คนในชุมชน
 
   ขั้นที่สาม มีการจัดเวทีประชุมปรึกษาหารือแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดของโรค โดยใช้กระบวนการจัดทำธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ เป็นแนวทางสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน มีการตั้งทีมยกร่างขึ้นมาก่อน แล้วนำไปรับฟังความคิดเห็นในเวทีประชุมการยกร่างธรรมนูญสุขภาพตำบลโยธะกา ป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 ณ รพ.สต. โยธะกา โดยได้รับคำปรึกษาแนะนำในทุกขั้นตอนอย่างดียิ่งจากพี่กฤษดา พรหมสุวรรณ์ สาธารณสุขอำเภอบางน้ำเปรี้ยว เวทีนี้ได้เชิญแกนนำและตัวแทนจากทุกภาคส่วนในพื้นที่เข้าร่วมให้ความเห็นต่อร่างธรรมนูญสุขภาพฯ จนได้รับความเห็นพ้องร่วมกัน จึงมีการประกาศใช้ ธรรมนูญสุขภาพตำบลโยธะกา ป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 (COVID-19) เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 เพื่อเป็นเครื่องมือให้ทั้ง 13 หมู่บ้านใช้ขับเคลื่อนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ไปสู่การปฏิบัติ จนถึงขณะนี้ ไม่พบผู้ติดเชื้อในตำบลโยธะกาสักคนเดียวเลยครับ
 
   ไม่เพียงเท่านี้นะครับ ที่ตำบลโยธะกายังเชื่อมประสานกับบริษัทเอกชน ห้างร้านต่าง ๆ ในพื้นที่ ช่วยสนับสนุนของกินของใช้ที่จำเป็นเพื่อแบ่งเบาภาระและบรรเทาความเดือดร้อนชาวบ้าน กว่า 1,800 ครัวเรือน โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้พิการในชุมชน
 
   ชาวตำบลโยธะการ่วมมือร่วมใจเปลี่ยนความตระหนกเป็นความตระหนัก ขับเคลื่อนแบบครบวงจร ทั้งมาตรการป้องกัน ควบคุมโรค และฟื้นฟู เยียวยาโดยไม่ทอดทิ้งใครให้ทุกข์กายทุกข์ใจเลยนะครับ
 
   “สุชน” ของกดไลค์ให้รัว ๆ เลย พบกันใหม่ฉบับต่อไปครับ