"ปิ่นโตตุ้มตุ้ย" ภารกิจไม่ทอดทิ้งกันของคนบ่อยาง

"ปิ่นโตตุ้มตุ้ย" ภารกิจไม่ทอดทิ้งกันของคนบ่อยาง

ศูนย์บ่อยางพึ่งพาตนเอง อำเภอเมืองสงขลา ใช้ภารกิจ “ปิ่นโตตุ้มตุ้ย” เป็นสื่อประสานให้คนในชุมชนไม่ทอดทิ้งกัน ทั้งในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ต้องแก้ปัญหาเร่งด่วนคือการขาดแคลนอาหารในกลุ่มที่ว่างงานและเปราะบาง และยังวางแผนระยะยาวเกื้อกูลกันทั้งตำบลอย่างยั่งยืนต่อไป

   สวัสดีครับพี่น้องชุมชนเข้มแข็ง ฉบับนี้ ผม “นายสุชน” จะพาไปที่ศูนย์บ่อยางพึ่งพาตนเอง อำเภอเมืองสงขลา ซึ่งเมื่อ 2-3 ปีก่อน เครือข่ายออมทรัพย์ตำบลบ่อยาง 7 ชุมชนได้รวมตัวกันจัดตั้ง ศูนย์บ่อยางพึ่งพาตนเอง ภายใต้แนวคิดการดูแลตนเองของชุมชนเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายหลักคือคุณภาพชีวิตที่ดี มีทีมสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ช่วยสนับสนุน
 
   ศูนย์บ่อยางฯ ได้ร่วมกับ มูลนิธิชุมชนสงขลา และ ศูนย์ประสานการพัฒนาสังคมจังหวัด หรือ ศปจ. สำรวจข้อมูลกลุ่มเปราะบางทางสังคม โดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส. และ อบจ.สงขลา เพื่อดูแลสมาชิกกลุ่มเปราะบางที่เป็นกลุ่มออมทรัพย์ทั้ง 7 กลุ่ม โดยศูนย์บ่อยางฯ ทำหน้าที่ประสานส่งต่อความช่วยเหลือและทำงานร่วมกับหน่วยงานและภาคีเครือข่ายในพื้นที่
 
   เมื่อมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คนบ่อยางจึงหารือกันและสามารถปรับแผนรับมือโรค ทั้งการป้องกัน ควบคุมโรค และการช่วยเหลือกันได้รวดเร็วมากครับ โดยสามารถนำฐานข้อมูลชุมชนมาใช้ประโยชน์ได้ทันที โดยไม่ต้องลงพื้นที่สำรวจกันใหม่ อีกหนึ่งภารกิจเร่งด่วน คือการช่วยเหลือสมาชิกชุมชนกลุ่มคนว่างงานและกลุ่มเปราะบางที่ขาดแคลนอาหาร ซึ่งไม่อาจรอคอยแต่ความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ จึงเกิดภารกิจ “ปิ่นโตตุ้มตุ้ย” มาตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 แล้วครับ
 
   ปฏิบัติการภารกิจ “ปิ่นโตตุ้มตุ้ย” เริ่มจากการจัดระบบทีมของชุมชนเพื่อสำรวจและแจ้งจำนวนผู้รับปิ่นโตของแต่ละชุมชน โดยมีแกนนำชุมชนมารับวัตถุดิบที่ได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัด พัฒนาการจังหวัดสงขลา มูลนิธิวิสุทธิคุณหาดใหญ่ สาขาสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยจังหวัดสงขลา ศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 มูลนิธิชุมชนสงขลา จากศูนย์บ่อยางฯ ในช่วงเย็นของแต่ละวัน
 
   รุ่งเช้า ทีมแม่ครัวแต่ละชุมชนจะจัดเตรียมวัตถุดิบพร้อมปรุงอาหารตามเมนูที่แตกต่างกันไป เมื่อถึงเวลา 06.00 -10.00 น. สมาชิกภารกิจ "ปิ่นโตตุ้มตุ้ย" ก็จะทยอยนำปิ่นโตที่คล้องป้ายระบุชื่อ เบอร์โทรศัพท์ และจำนวนสมาชิกในครัวเรือนนั้น ๆ มาวางไว้ที่ครัวกลางของชุมชน ใกล้ๆ เที่ยงวัน สมาชิกก็จะมารับปิ่นโต ที่บรรจุข้าวและอาหารในปริมาณที่เหมาะสมตามจำนวนที่แจ้งไว้กลับไปบ้าน ซึ่งทุกขั้นตอนจะมีความเข้มงวดในมาตรการป้องกันและควบคุมโรค การมาวาง-รับ ปิ่นโตจะต้องสวมหน้ากากอนามัยและมีเจลล้างมือให้บริการด้วย คนที่นี่มีน้ำใจและไม่ยอมให้การ์ดตกเลยครับ
 
   จนถึงขณะนี้ “ปิ่นโตตุ้มตุ้ย” ได้เกื้อกูลพี่น้องที่ได้ผลกระทบจากวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 ไปแล้วจำนวน 525 คน จาก 6 ชุมชน เฉลี่ยแล้วมีปิ่นโต 25-60 เถาต่อชุมชนเลยนะครับ
 
   แต่...ภารกิจ “ปิ่นโตตุ้มตุ้ย” ไม่หมดเท่านี้นะครับ เขายังมีแผนสร้างความยั่งยืนให้กับสมาชิก “ปิ่นโตตุ้มตุ้ย” ด้วยการส่งเสริมการสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง โดยให้สมาชิกเพาะถั่วงอกและต้นอ่อนผักบุ้งมาขายให้กับครัวกลาง ส่งเสริมการจัดการรายรับรายจ่ายของครัวเรือน และยังต่อยอดโดยติดต่อนำเสนอบริการจัดส่งปิ่นโตเพื่อเป็นอาหารกลางวันให้หน่วยงานราชการอีกด้วย สุดยอดไปเลยใช่ไหมครับ
 
   เคล็ดลับของภารกิจ “ปิ่นโตตุ้มตุ้ย” อยู่ที่การใช้ปิ่นโตเป็นเครื่องมือสื่อสารถึงการเอาใจใส่ช่วยเหลือเกื้อกูลทั้งเรื่องอิ่มท้องและอิ่มใจที่เป็นการเชื่อมร้อยคนและสร้างความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ผ่านการแบ่งปัน ช่วยเหลือกันและกัน โดยจัดระบบการบริหารจัดการที่ดี โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีส่วนร่วม ข่าวดีคือกำลังจะมีการสรุปบทเรียนและทำกติกากลางหรือธรรมนูญของศูนย์ฯ พร้อมทั้งสื่อสารแนวคิด การดำเนินการภารกิจต่อสังคมและชุมชนอื่น ๆ ที่สนใจต้องการนำไปปรับใช้ด้วยครับ
แล้วพบกันฉบับต่อไป ไม่ประมาท การ์ดอย่าตกกันนะครับ สวัสดีครับ