คนเดชอุดมไม่ทิ้งกัน เกื้อกูลผู้ได้รับผลกระทบ ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต

คนเดชอุดมไม่ทิ้งกัน เกื้อกูลผู้ได้รับผลกระทบ ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต

อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี สานพลังทุกตำบล จัดทำและขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพตำบล ว่าด้วย การป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และมองไกลไปสู่การฟื้นฟูคุณภาพชีวิต เพราะคนอุบลฯ ไม่ทิ้งกัน

   สวัสดีครับ ชาวชุมชนคนเข้มแข็งทุกท่าน ผม นายสุชน จะขอนำทุกท่านไปเยี่ยมจังหวัดอุบลราชธานีกันอีกจั๊กเทือนะครับ จังหวัดนี้โดดเด่นจริงๆเรื่องการนำธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ไปใช้ในการป้องกันโควิด-19 แล้ว แล้วหลังโควิด-19 เขาเริ่มคิดอะไรกัน ตามผมไปที่ อำเภอเดชอุดม ครับ
 
   ผมมีโอกาสพบกับ นายอำเภอธรรมนูญ แจ่มใส ในเวที “การประชุมขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพตำบล ว่าด้วยการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอเดชอุดม เมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา เวทีนี้คึกคักมากครับมีตัวแทนจากตำบลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และผู้แทน รพ.สต. มากันครบ เวทีนี้จัดขึ้นเพื่อ “หารือให้เกิดข้อตกลงร่วมกันว่าทุกตำบลในอำเภอเดชอุดมจะจัดทำธรรมนูญสุขภาพตำบล และนำไปใช้เป็นกติกาชุมชน เพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดของโควิด-19 ให้ได้”
 
   กองหนุนข้อมูลความรู้ก็มากันแน่นจากหลายภาคส่วนครับ อาทิ คุณมัธยม สุพัฒน์ สาธารณสุขอำเภอเดชอุดม พ.ต.อ.วีรพันธ์ นาคสุข ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเดชอุดม นายแพทย์วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คุณสมบูรณ์ เพ็ญพิมพ์ ผู้แทน สปสช. เขต 10 ดร.วิชิต พุ่มจันทร์ ผู้แทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด คุณอุทัย งามสาย ประธาน อสม.จังหวัด คุณเมริน สายดวง ประธาน อสม. อำเภอวารินชำราบ และทีมวิทยากรจากมูลนิธิประชาสังคม
 
   ที่ประชุมกำหนดเป้าหมายให้ชุมชนร่วมจัดการ 3 เรื่องใหญ่ ได้แก่ 1) การคัดกรองเฝ้าระวังผู้ที่มาจากพื้นที่เสี่ยง โดยให้กักตัว สังเกตอาการเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน 2) ให้เทศบาลและอบต.ในอำเภอเดชอุดม จัดหาอุปกรณ์ สิ่งสนับสนุนในการควบคุมโรค และ 3) ให้ทุกพื้นที่ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนปฏิบัติตามข้อตกลงนี้อย่างเคร่งครัด ซึ่งได้รับผลตอบรับจากชาวบ้านเป็นอย่างดีเลยครับ
 
   พี่เสาวลักขณ์ จันทรพวง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สสอ. เดชอุดม พาผมไปเยือน รพ.สต.ม่วง ตำบลสมสะอาด ก้าวเข้าไปก็พบมาตรการเข้มงวด ทั้งวัดไข้ ทำความสะอาดมือ ตีเส้นพื้นและตั้งเก้าอี้ให้มีระยะห่างระหว่างกัน ที่ รพ.สต.ม่วงมีนโยบายสุดเก๋ “เคอร์รี่ส่งยาถึงบ้านให้ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ” จำนวน 30-40 คน ใน 7 หมู่บ้าน โดยพระเอกนางเอกก็พี่ๆ อสม. นั่นเองครับ พี่ชาคริต เชื้อชม ผอ.รพ.สต.ม่วง บอกว่า ต้องปรับตัวตามสถานการณ์ที่ช่วงนี้ชาวบ้านอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ เลยแทบจะไม่มา รพ.สต. กันครับ
 
   พี่ทรงพล ศรีแก้ว หมออนามัยของ รพ.สต. ม่วง ยังพาผมไปดูสถานที่กักตัวของตำบล ซึ่งสถานที่และบรรยากาศดีมาก ๆ ผู้กักตัวไม่รู้สึกเครียดเลย เพราะพี่ๆ จาก รพ.สต. และทีม อสม. นำโดย พี่บุญกอง เกษสุพรรณ ประธาน อสม. เดชอุดม จะหมุนเวียนถามไถ่ดูแลให้กำลังใจอย่างสม่ำเสมอครับ
 
   เมื่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ในช่วงที่พอจะควบคุมได้แล้ว อำเภอเดชอุดมก็เริ่มมองไกลไปข้างหน้าเรื่องฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของผู้ที่ได้รับผลกระทบครับ โดยทางอำเภอได้ประสานกับ ที่ทำการนิคมสร้างตนเองลำโดมใหญ่ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เพื่อขอการสนับสนุนช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและผู้ที่ตกงานจากสถานการณ์โควิด-19 ในอำเภอ จำนวน 247 ครอบครัว ซึ่งเบื้องต้นจะได้รับความช่วยเหลือครอบครัวละ 2,000 บาท
 
   นี่แหละครับ สมกับคำกล่าวที่ว่า “คนอุบลฯ ไม่ทิ้งกัน” จริง ๆ ขอปรบมือดังๆ ให้เลยครับ แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดีครับ
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147