วิถีไทยเบิ้ง ณ บ้านโคกสลุง สร้างสุขกลางวิกฤติโควิด-19

วิถีไทยเบิ้ง ณ บ้านโคกสลุง สร้างสุขกลางวิกฤติโควิด-19

วิถีไทยเบิ้ง ณ บ้านโคกสลุง สร้างสุขกลางวิกฤติโควิด-19

ชาวไทยเบิ้ง ตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ร่วมมือร่วมใจ ร่วมสร้างความสุขท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ด้วยวิถีวัฒนธรรมที่เรียบง่าย ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อรักษาคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน ให้กินอิ่ม นอนหลับ และปลอดภัย

   สวัสดีครับ พี่น้องชาวชุมชนคนเข้มแข็งทุกท่าน ผม นายสุชน ขอพาทุกท่านไปเยือนถิ่นริมน้ำป่าสัก ไปรู้จักกับ “ชาวไทยเบิ้ง” ณ ตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี กันนะครับ ว่าเขามีการป้องกันควบคุมและเตรียมพร้อมเรื่องการฟื้นฟูเยียวยาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนจากโควิด-19 กันอย่างไรบ้าง...
 
   ผมได้พบกับ พี่ทิพย์วรรณ ศริพันธุ์ รักษาการ ผู้อำนวยการสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี ตำบลโคกสลุง และ พ่อมืด หรือ ประทีป อ่อนสลุง หนึ่งในแกนนำชุมชน และเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งกลุ่มสถาบันไทยเบิ้งโคกสลุงเพื่อการพัฒนา ได้ทราบว่าชุมชนไทยเบิ้งนั้นมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย อยู่อย่างพอเพียงมาแต่เนิ่นนาน อาชีพหลักคือทำนา มีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่เป็นอัตลักษณ์ คือ ภูมิปัญญาด้านอาหารพื้นบ้าน และมีกลุ่มแกนนำที่ขับเคลื่อนงานชุมชนมามากกว่า 20 ปี เป้าหมายร่วมของคนในชุมชน คือ “ความสุขร่วมของชุมชนบนวิถีวัฒนธรรมไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง”
 
   ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นี้ บ้านโคกสลุงใช้กลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล (พชต.) ที่มีสถานีอนามัยตำบลโคกสลุง เป็นแกนหลักประสานหน่วยงาน กลุ่มองค์กรต่างๆ ทั้งพระ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. โรงเรียน ตำรวจ รถไฟ อสม. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้ง เปิดเวทีพูดคุยหาแนวทางปฏิบัติป้องกัน ควบคุม เฝ้าระวังโรค ที่จะทำให้ “คนในชุมชน ยังกินอิ่ม นอนหลับ และปลอดภัย” มีทีมทำงานคือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ พี่ๆ อสม. คึกคักเข้มแข็งมาก ๆ เลยครับ
 
   ชาวโคกสลุงยังมีเรื่องดีดีที่เตรียมการทั้งในช่วงป้องกันโรค และรองรับการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตที่เน้นการพึ่งพาตนเองเป็นสำคัญ เพื่อให้ชุมชนต้องอยู่ได้ คนในชุมชนต้องไม่เดือนร้อนจากวิกฤติครั้งนี้ โดยดำเนินการ 3 เรื่องครับ
 
   หนึ่ง การเปิดตลาดในวัด โดย พระครูผาสุกพัฒนสุนทร เจ้าอาวาสวัดโคกสำราญ ท่านมีเมตตา หารือกับทางอำเภอขอเปิดตลาด เพื่อให้ชาวบ้านมีที่ซื้อข้าวปลาอาหารที่จำเป็น โดยอนุญาตให้คนในชุมชนเท่านั้นที่มาขายของได้ และให้ขายเฉพาะอาหารและของใช้จำเป็น ตลาดมีการกำหนดมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มข้น เช่น ทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัย ทุกร้านมีเจลแอลกอฮอล์ แผงร้านค้าตั้งห่างกัน 2 เมตร ห้ามนำเด็กเล็กมาด้วย ซื้อของแล้วให้รีบกลับ ห้ามนั่งคุยหรือนั่งรับประทานอาหารที่วัด เป็นต้น
 
   สอง สร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชน “ในน้ำมีปลา ในยุ้งมีข้าว ในสวนมีผัก” โดยมีต้นทุนจาก ชุมชนที่นี่ได้นำมติสมัชชาสุขภาพจังหวัดลพบุรี เรื่องอาหารปลอดภัย มาขับเคลื่อนภายใต้ชื่อโครงการ “ปลูกรักษ์ผักพื้นบ้านอินทรีย์”ตั้งแต่ปีที่แล้ว ได้รับการสนับสนุนจากสมัชชาสุขภาพจังหวัดลพบุรี และ Node Flagship ของ สสส. มีเป้าหมายคือ “ปลูก กิน แบ่งปัน เก็บเมล็ดพันธุ์” จัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้าน ซึ่งเป็นการอนุรักษ์อาหารพื้นบ้าน พร้อมให้ความรู้ในการปลูก ดูแล และเก็บเมล็ดพันธุ์ด้วยภูมิปัญญาผสมผสานความรู้สากล มีพ่อมืด เป็นกำลังสำคัญ เมื่อเดือนเมษายนท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ธนาคารเมล็ดพันธุ์ฯ ได้แบ่งปันเมล็ดพันธุ์ผัก 21 ชนิด 479 ถุง และต้นกล้าผักพื้นบ้านให้สมาชิกในชุมชน นายอำเภอและสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพัฒนานิคม ในโครงการ Quick Win 90 วัน เพื่อเป็นแหล่งอาหารให้ชุมชนพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย
 
   สาม การเติบโตของ “กลุ่มเมล็ดข้าวเปลือกไทยเบิ้ง” ในเรื่องนี้ พ่อมืด บอกผมว่า เป็นความร่วมมือของกลุ่มสถาบันไทยเบิ้งโคกสลุงเพื่อการพัฒนากับพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง ที่พลิกวิกฤติโควิด-19 เป็นโอกาส พัฒนาโครงการ “ปลูกผักไว้กินในครัวเรือน” มีกลุ่มเด็กและเยาวชนไทยเบิ้ง “กลุ่มเมล็ดข้าวเปลือกไทยเบิ้ง” เป็นมดงาน โดยกลุ่มสถาบันฯ ให้การสนับสนุนทุนโครงการละ 5,000 บาท มีระยะเวลา 3 เดือน เพื่อให้ปลูกผักไว้กินแบ่งปันในครัวเรือนและบ้านใกล้เรือนเคียง นำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ ความสุข และการเรียนรู้ในครอบครัว โดยเด็กๆ จะมาเล่าความคืบหน้าของโครงการผ่านวิดีโอคอลหรือกลุ่มไลน์เพื่อสรุปการเรียนรู้ร่วมกันด้วยสุนทรียสนทนา
 
   ชาวไทยเบิ้ง ณ บ้านโคกสลุง ได้พิสูจน์ให้พวกเราเห็นแล้วนะครับว่า ความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีสร้างได้ด้วยวิถีวัฒนธรรมที่เรียบง่ายตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง... น่าชื่นชมจริง ๆ ครับ