พังงาโต้คลื่น: จากภัยพิบัติสึนามิสู่โรคระบาดโควิด-19

พังงาโต้คลื่น: จากภัยพิบัติสึนามิสู่โรคระบาดโควิด-19

พังงาโต้คลื่น: จากภัยพิบัติสึนามิสู่โรคระบาดโควิด-19

ไปเรียนรู้ดูชาวพังงา รวมพลังโต้คลื่นทะเลอันดามัน นำฐานทุนที่มี ทั้งทรัพยากร ความเข้มแข็งของชุมชน และองค์ความรู้จากภัยพิบัติสึนามิ มาปรับใช้รับมือกับภัยของโรคโควิด-19 เพื่อเป้าหมายการพัฒนาและขับเคลื่อนที่ยั่งยืน คือ พังงาเมืองแห่งความสุข

   สวัสดีเพื่อนพี่น้องชุมชนคนเข้มแข็งครับ เรื่องเล่าพลังชุมชนสู้ภัยโควิด 19 ฉบับนี้ “สุชน” พาไปลัดเลาะชายฝั่งอันดามันกันนะครับ พังงาเป็นหนึ่งในจังหวัดที่เคยประสบกับภัยพิบัติสึนามิที่สร้างความสูญเสียอย่างมาก แต่ก็ผ่านพ้นสถานการณ์ร้ายแรงมาได้ จากประสบการณ์ในครั้งนั้นทำให้ชาวพังงาตื่นตัวเตรียมความพร้อมของชุมชนในการรับมือกับภัยพิบัติและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น คราวนี้เราไปดูกันว่าชาวพังงา โต้คลื่นรับมือกับภัยโควิด-19 กันอย่างไร
 
   นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา มองว่าสถานการณ์นี้ไม่ต่างกับสึนามิ ต้องประเมินสถานการณ์ด้วยความไม่ประมาทและสร้างความร่วมมืออย่างจริงจังของทุกภาคส่วนเพื่อรับมือโควิด-19 ด้วยการตั้งสติ ดูข้อมูลให้รอบด้าน ทำให้ชีวิตปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยการตั้งทีมคัดกรอง เฝ้าระวังและติดตามในแหล่งท่องเที่ยวทุกแห่ง รวมถึงเกาะยาวที่เป็นพื้นที่ความเสี่ยงสูง เตรียมการทางการแพทย์และการรับมือทางทะเล เตรียมเรือพยาบาล เร่งสื่อสารสร้างความเข้าใจผ่านสื่อต่าง ๆ รวมถึงดูแลเรื่องปากท้องของพี่น้องที่เดือดร้อนและด้อยโอกาส โดยใช้ “ธนาคารอาหารประจำตำบล” และในอนาคตจะพัฒนาไปสู่ “ครัวหมู่บ้านชุมชน”ภายใต้การยืนหยัดบนขาของตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องเศรษฐกิจ และใช้การจัดการตามมาตรการและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ควบคู่ไปกับการป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดระลอก 2
 
   พี่ไมตรี จงไกรจักร นายกสมาคมประชาสังคมพังงาแห่งความสุข เล่าให้ฟังถึงเป้าหมายใหญ่ร่วมกันของคนพังงา คือ “พังงาเมืองแห่งความสุข” ยึดหลักการทำงานด้วยหัวใจสำคัญ คือ “คนจริง ทำจริง
สุขจริง” ใช้บทเรียนจากสึนามิเป็นทุนในการสร้างความร่วมมือทั้งภาคประชาสังคม ราชการและท้องถิ่น ฝ่ายนโยบายก็มีความสำคัญ เมื่อผู้ว่าฯเข้าใจและเห็นความสำคัญ พังงาจึงมีความได้เปรียบ เช่น เรื่องความมั่นคงทางอาหารก็มีนโยบายคลังอาหารของผู้ว่าฯ โครงการข้าวแลกปลาผู้ว่าฯ ก็มาร่วม และยังได้รับความร่วมมือจากจังหวัดในการขนส่ง และช่วยเหลือเรื่องข้าวที่แลกมาแต่มีไม่เพียงพอทำให้สามารถดูแลคนที่ตกหล่นหรือกลุ่มคนเปราะบางได้ทั่วถึง “ต้นทุนดี ความร่วมมือดี ไม่ว่าภัยอะไรก็มากระทบเราไม่ได้” จริงที่สุดครับ

 
   นายวิทวัส เทพสง ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเล เล่าว่า ชาวเลมีทั้งชาวเลชายฝั่งและอยู่เกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังไม่มีความรู้เรื่องโรคโควิด-19 และวิธีป้องกันตนเองเลย ในช่วงแรกจึงมีการเตรียมข้อมูลและวิเคราะห์ชาวเลที่เป็นกลุ่มเปราะบางว่าต้องลงไปช่วยเหลือก่อน ต่อมามูลนิธิชุมชนไทยและ สสส. ได้ผลิตและกระจายหน้ากากอนามัยมาให้ รวมถึงเร่งเตรียมความพร้อมด้านอาหารด้วย เนื่องจากพี่น้องชาวเลเจอปัญหาขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะข้าวสาร เพราะไม่มีเงินซื้อมากักตุน แต่เขาใช้จุดแข็งที่มีปลา และมีกิจกรรมข้าวแลกปลาระหว่างชาวดอยกับชาวเลอยู่แล้ว เมื่อเกิดสถานการณ์โรคโควิด-19 กิจกรรมข้าวแลกปลาจึงถูกจัดขึ้นอีกครั้ง โดยพี่น้องนำปลาไปแลกข้าวมาได้ 6 ตัน จากเป้าหมาย 8.5 ตัน ส่วนที่เหลือก็ได้รับการสนับสนุนจากผู้ว่าฯ พวกเขาจึงมีข้าวสารพอกินไปจนถึงช่วงหน้ามรสุมเลยครับ “พวกเราสร้างชุมชนชาวเลที่มีวิถีวัฒนธรรมที่มีคุณค่าต่อธรรมชาติและเศรษฐกิจด้วย และเป็นกลุ่มที่จะช่วยเหลือตนเองและสังคม เมื่อเครือข่ายพี่น้องชาวเลมีส่วนร่วมทำให้ช่วยกันในการบริหารจัดการได้ดี”
 
   นายบัญญัติ ศรีสมุทร กำนันตำบลเกาะยาวน้อย ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลเกาะยาวน้อย เล่าว่า “เมื่อเกิดวิกฤติโรคโควิด-19 เราดูแลกันเอง ชาวประมงขายปลาราคาถูกเพื่อให้ชาวบ้านซื้อกินได้และช่วยชาวประมงด้วย ในชุมชนใครขาดอะไรก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน คนมีข้าวสารอาหารแห้งก็ปันสุขปันน้ำใจแบ่งปันกัน นักท่องเที่ยวที่ตกค้างชาวบ้านก็ดูแลไม่ปล่อยให้เขาโดดเดี่ยว”
 
   นายทรงวุฒิ อินทรสวัสดิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางวัน อ.คุระบุรี เพิ่มเติมว่า “เรามีพื้นฐานพังงาแห่งความสุข ไม่ว่าจะเกิดภัยพิบัติแบบไหนเกิดเหตุอะไรเราร่วมมือจับมือกันแก้ไขปัญหาได้ทันที ดัชนีชี้วัดความสุข คือ ได้กินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้หมด ไม่มีคดีอาชญากรรมร้ายแรง ท้องถิ่น ท้องที่จับมือกัน ทำให้เราทำงานกันได้ทันท่วงที”
 
   นอกจากนี้ชาวพังงายังได้ร่วมกับ ดร.กิตติ คงตุก รองคณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อตั้ง “สถาบันการเรียนรู้พังงาแห่งความสุข” เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้และต่อยอดการทำงานสร้างความยั่งยืนอีกด้วยครับ
 
   รวมพลังกันโต้คลื่นเช่นนี้ ภัยไหน ๆ ชาวพังงาก็รับมือได้สบาย สมกับเป็นเมืองแห่งความสุขจริง ๆ เลยนะครับ พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ