ธรรมนูญสุขภาพตำบลน้ำคอก ต่อยอดสุขภาวะ บนฐานความมั่นคงทางอาหาร

ธรรมนูญสุขภาพตำบลน้ำคอก ต่อยอดสุขภาวะ บนฐานความมั่นคงทางอาหาร

ธรรมนูญสุขภาพตำบลน้ำคอก ต่อยอดสุขภาวะ บนฐานความมั่นคงทางอาหาร

ชาวตำบลน้ำคอก อำเภอเมืองฯ จังหวัดระยอง ต่อยอดขยายผลธรรมนูญสุขภาพตำบลน้ำคอก สู่ธรรมนูญสุขภาพป้องกัน ควบคุม แก้ไขโรคโควิด-19 และฟื้นฟูคุณภาพชีวิตเพื่อสุขภาวะวิถีใหม่ สร้างความมั่นคงทางอาหารพร้อมฟื้นฟูจิตใจ ด้วยต้นกล้าสวนครัวปันสุข และการปลูกพืชผักสวนครัว

   สวัสดีครับ ชาวชุมชนคนเข้มแข็ง ฉบับนี้ ผม “นายสุชน” จะพาไปตำบลน้ำคอก เมืองระยองฮิกันนะครับ ชาวบ้านเรียกพื้นที่นี้ว่า“บ้านน้ำคอก” ก็เพราะเป็นพื้นที่ลุ่มและล้อมรอบไปด้วยน้ำ เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำจะท่วมพื้นที่โดยรอบทั้งตำบล เรียกเช่นนี้มากันจนกลายเป็นชื่อตำบล แค่ที่มาของชื่อก็น่าติดตามแล้วใช่ไหมครับ
 
   คุณยุวพร ดีพุดซา รองปลัดเทศบาลตำบลน้ำคอก เล่าให้ผมฟังว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2563 ช่วงที่สถานการณ์โรคโควิด-19 กำลังร้อนแรง ที่ตำบลน้ำคอกพบผู้ป่วยหญิง 1 ราย ซึ่งติดเชื้อมาจากสามี ชาวบ้านจึงเริ่มตื่นตระหนกและตึงเครียดกันมาก แกนนำตำบลต้องรีบแก้ปัญหาทันที โดยได้นัดหารือและจัดทีมลงพื้นที่ คัดกรองผู้สัมผัสใกล้ชิด ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ ตั้งจุดคัดกรอง ประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้ความรู้ ให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการของรัฐอย่างเข้มงวด พร้อมทั้งปฏิบัติการจิตวิทยาเพื่อให้พี่น้องผ่อนคลายไม่ตื่นตระหนกเกินไปด้วยครับ
 
   ปฏิบัติการครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานราชการในพื้นที่ ท้องที่ ท้องถิ่น มูลนิธิสว่างพรกุศล และอาสาสมัครต่าง ๆ โดยมี รพ.สต. มาให้ความรู้และคำแนะนำแก่ที่ประชุม ซึ่งได้มาร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูล หาแนวทางแก้ไขปัญหา กำหนดมาตรการป้องกันควบคุมโรคและขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ โดย นายณรงค์ ขาวนวล นายกเทศมนตรีตำบลน้ำคอก มีนโยบายให้เทศบาลฯ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการให้ความช่วยเหลือทุกด้าน พร้อมสนับสนุนงบประมาณและบุคลากรอย่างเต็มที่เลยครับ ซึ่งมาตรการเร่งด่วนที่ชาวตำบล
น้ำคอกตกลงกัน เช่น การเฝ้าระวังประชาชนที่เดินทางเข้าออก กำชับให้ประชาชนปฏิบัติตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และมาตรการรัฐ ให้ อสม. คอยติดตาม สำรวจ ทำประวัติ ให้คำแนะนำในการกักตัว และสังเกตอาการ ร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง เพียงไม่กี่วันความตึงเครียดที่ตำบลน้ำคอกก็คลี่คลายลงได้ครับ

 
   แปลกใจไหมครับว่า ทำไมชุมชนน้ำคอกจึงรวมตัวกันควบคุมสถานการณ์ได้เร็วเช่นนี้....ก็เพราะเขามีฐานทุนสำคัญจากประสบการณ์การจัดทำธรรมนูญสุขภาพเพื่อสุขภาพประชาชนตำบลน้ำคอก พ.ศ. 2562 พอเจอภัยโควิด-19 จึงสามารถเรียกประชุมคณะกรรมการสำนักธรรมนูญตำบลได้อย่างรวดเร็ว เพื่อหารือกัน โดยถักทอ เชื่อมโยงฐานทุนจากธรรมนูญสุขภาพตำบลน้ำคอก ในหมวด 3 การส่งเสริมสนับสนุนข้อตกลงร่วม 7 ด้าน ในส่วนด้านบ้านและเศรษฐกิจพอเพียง เอามาขับเคลื่อนเป็นรูปธรรม ยกร่างเป็นข้อตกลงใหม่เพื่อสู้ภัยโรคระบาด โดยกำหนดมาตรการทางสังคมให้เข้ากับบริบทของพื้นที่ ร่วมกันพิจารณา และประกาศใช้ ธรรมนูญสุขภาพตำบลน้ำคอก ว่าด้วยการป้องกัน ควบคุม แก้ไขปัญหาโรคไวรัสโคโรนา 2019 และฟื้นฟูคุณภาพชีวิต เพื่อสุขภาวะของคนในชุมชน เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563
 
   มาตรการช่วยเหลือดูแลกันในชุมชนรวมถึงการดูแลกลุ่มเปราะบางนั้น ก็น่าสนใจมากครับ ชาวบ้านเลือกใช้มาตรการฟื้นฟูช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโดยมุ่งเน้นให้มีอาหารบริโภค พึ่งพาตนเองได้ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย และสร้างความมั่นคงทางอาหาร ผ่านกิจกรรม “ปลูกผักสวนครัว” ซึ่งคณะกรรมการศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรตำบล มาช่วยจัดอบรมให้ความรู้และแจกเมล็ดพันธุ์ผักให้ และยังติดตามประเมินผล เพื่อนำมาต่อยอดเป็นกิจกรรม “ต้นกล้าสวนครัวปันสุข” ที่ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนำพืชผักสวนครัวที่เป็นต้นกล้า
มาบริจาคกลับคืนคนละ 5 ชนิดๆ ละ 1 ต้น เพื่อส่งมอบให้กับครัวเรือนอื่น ๆ ต่อไปด้วยครับ

 
   ปัจจุบันยังขยายผลไปสู่กิจกรรมปลูกพืชผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางอาหารเพื่อฟื้นฟูจิตใจและ สุขภาวะทางจิตให้แก่ประชาชน อีกด้วยครับ โดยได้สอดแทรกแนวปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ในธรรมนูญสุขภาพฯ ฉบับโควิด-19 ไประหว่างร่วมกิจกรรมด้วย ซึ่งมีเป้าหมายอย่างน้อย 100 ครัวเรือน และให้ขยายผลบอกต่อครัวเรือนอื่น ๆ ในชุมชนต่อไป
 
   บ้านน้ำคอกนับเป็นตัวอย่างของชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการรับมือภัยโควิด-19 ด้วยฐานชุมชนเข้มแข็งที่มีการเสริมสร้างการเรียนรู้ในชุมชน พร้อมสร้างสังคมเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกันมาอย่างต่อเนื่อง
 
   ผมขอยกนิ้วให้เลย แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้านะครับ