ลูกหลาน...เมืองเจ้าพ่อพญาแล ไปโรงเรียนปลอดภัยจากโควิด-19

ลูกหลาน...เมืองเจ้าพ่อพญาแล ไปโรงเรียนปลอดภัยจากโควิด-19

ลูกหลาน...เมืองเจ้าพ่อพญาแล ไปโรงเรียนปลอดภัยจากโควิด-19

แกนนำสมัชชาสุขภาพจังหวัด ชักชวนคนชัยภูมิทุกภาคส่วน ช่วยกันเฝ้าระวังตั้งการ์ด ต้านภัยโรคระบาด ใช้ฐานคิด ภูมิปัญญา และทรัพยากรในพื้นที่ ให้ทุกคนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ สร้างมาตรการพาลูกหลานไปโรงเรียนได้อย่างปลอดภัยจากโควิด-19

   สวัสดีเพื่อนพี่น้องชุมชนคนเข้มแข็งครับ บรรยากาศช่วงโรงเรียนเปิดเทอมยังกรุ่นอยู่เลยนะครับ พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนยังห่วงกังวลความปลอดภัยของลูกหลาน เรื่องเล่าพลังชุมชน สู้ภัยโควิด-19 ฉบับนี้ “สุชน” จึงจะพาไปดูพี่น้องจังหวัดชัยภูมิ ที่ชวนกันมาปรึกษาหารือเตรียมมาตรการรองรับเปิดเทอมเพื่อให้ลูกหลานปลอดภัยจากโรคโควิด-19 อย่างแข็งขัน ไปติดตามกันครับ
 
   นพ. เฉิดพันธุ์ ภัทรพงศ์สินธุ์ ผอ.รพ.หนองบัวระเหว และประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดชัยภูมิ เล่าให้ฟังว่า แม้รัฐจะมีมาตรการเปิดโรงเรียนอย่างปลอดภัยมาให้ แต่โรงเรียนแต่ละแห่งมีความต่างทั้งขนาดและจำนวนนักเรียน ดังนั้นการจัดการรองรับย่อมไม่เหมือนกัน แต่ละแห่งควรกำหนดมาตรการที่เหมาะสมได้เอง
 
   คณะทำงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดชัยภูมิ จึงหารือกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ จนได้รับโอกาส ให้นำเสนอระเบียบวาระ “เปิดเทอมพาลูกหลานไปโรงเรียนให้ปลอดภัยจากโรคโควิด-19” ต่อคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด ซึ่งแนวคิดและกระบวนการเตรียมรับมือที่นำเสนอได้รับความสนใจ จนที่ประชุมเห็นชอบและสนับสนุนให้จัดเวทีระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องในโรงเรียน เช่น ครู ครอบครัวผู้ปกครอง ชุมชน ท้องถิ่น รพ.สต. ผู้ประกอบการหอพัก ผู้ประกอบการรถรับส่ง และผู้ประกอบการร้านค้า เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการทางสังคมและแนวทางเสริมมาตรการของรัฐในการเตรียมความพร้อมรองรับ
การเปิดภาคเรียน

 
   พี่สังเวียน งาหัตถี ผู้ประสานงานสมัชชาสุขภาพจังหวัด เล่าว่า เวทีระดมความคิดเห็นนี้ จัดทั้งระดับจังหวัดและระดับโรงเรียน ซึ่งแบ่งเป็นศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษา และมหาวิทยาลัย ผมเลยขอติดตามพี่สังเวียนไปเข้าร่วมทุกเวทีเลยครับ ต้องบอกว่าประทับใจมาก เพราะทุกคนต่างช่วยกันเสนอ แลกเปลี่ยน คิด วิเคราะห์ และค้นหามาตรการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างมีพลัง ไม่มีใครนั่งฟังเฉย ๆ เลยนะครับ และยังมีทีมวิชาการช่วยสรุปข้อเสนอที่มีสาระสำคัญน่าสนใจเหล่านี้ ไปนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดเพื่อกำหนดเป็นมาตรการดำเนินการต่อไปด้วยครับ
 
   เวทีระดับจังหวัด พบปัญหาว่าผู้ประกอบการรถตู้ได้รับผลกระทบจากการสลับวันเรียน หอพักบางแห่งยังไม่มีมาตรการชัดเจน พื้นที่ยังไม่ได้รับข้อมูลการประเมินพื้นที่เสี่ยงจากที่สาธารณสุขสำรวจไป บางโรงเรียนขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกัน ที่ประชุมจึงมีข้อเสนอ 6 มาตรการหลัก คือ 1) ให้หน่วยงานสาธารณสุขระดับอำเภอ ตำบล คืนข้อมูลสถานการณ์ของหมู่บ้านเสี่ยงให้แก่สถานศึกษา 2) ให้ทุกสถานศึกษาจัดการประชุมร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจและทำข้อตกลงร่วมเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันโรค 3) ให้ทีม อสม. เข้ามามีส่วนร่วมคัดกรองและเฝ้าระวังความเสี่ยง 4) ให้ อปท. เป็นเจ้าภาพสนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์การควบคุมโรคให้กับสถานศึกษา 5) ให้สำนักงานขนส่งจังหวัดจัดเวทีพูดคุยกับผู้ประกอบการรถรับส่งนักเรียนเพื่อหาทางออก และ 6) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับหอพักเข้มงวดในการสร้างมาตรการเฝ้าระวัง
 
   เวทีระดับโรงเรียน พบปัญหาว่า พื้นที่ห้องเรียนในบางโรงเรียนมีขนาดเล็กจนไม่สามารถจัดมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมได้ จำนวนครูไม่เพียงพอต่อการดูแลเด็กตามมาตรการที่รัฐกำหนด ยังมีข้อกังวลว่าจะให้เด็กเล็กใส่หน้ากากตลอดวันได้อย่างไร และขาดวัสดุอุปกรณ์คัดกรองและทำความสะอาดด้วย หลังการหารือแต่ละโรงเรียนจึงเห็นว่าต้องกำหนดมาตรการที่แตกต่างกันไปด้วยความคิด ประสบการณ์ และภูมิปัญญา เช่น ใช้มะกรูด มะนาว หรือสบู่ล้างมือแทนเจลแอลกอฮอล์ ให้ผู้ปกครองวัดไข้ลูกหลานก่อนมาโรงเรียน จัดตั้งอาสาสมัครนักเรียนคัดกรองเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง ครูและผู้ปกครองช่วยกันทำสายคล้องคอป้องกันหน้ากากหลุด
 
   ร่วมแรงแข็งขันช่วยกันดูแลลูกหลานพญาแลแบบนี้ แกนสมัชชาสุขภาพจังหวัดมีพลังฮึกเหิมขึ้นมากเลยครับ เพราะวันนี้คนชัยภูมิสร้างพื้นที่กลางรวมพลัง ร่วมคิด ร่วมสร้างมาตรการทางสังคมได้แล้ว ต่อไปคงขยับขยายผลักดันไปสู่นโยบายสาธารณะด้านสุขภาพอื่นๆ ในระดับจังหวัดต่อในอนาคตได้แน่นอนครับ
 
   สุดยอดจริง ๆ พบกันฉบับหน้านะครับ