ปลูกผัก ปลูกคนเพื่อชุมชนมัสยิดบ้านบนเข้มแข็ง

ปลูกผัก ปลูกคนเพื่อชุมชนมัสยิดบ้านบนเข้มแข็ง

ปลูกผัก ปลูกคนเพื่อชุมชนมัสยิดบ้านบนเข้มแข็ง

ชุมชนมัสยิดบ้านบน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองฯ จังหวัดสงขลา รวมพลังความโดดเด่นที่แตกต่าง ในวิถีพหุวัฒนธรรม ร่วมกันคิดร่วมกันทำ สร้างสวนแบ่งปันชุมชนมัสยิดบ้านบน เกื้อกูล เอื้ออาทร เยียวยาพัฒนาคุณภาพชีวิต ปลูกผัก ปลูกคนเพื่อชุมชนมัสยิดบ้านบนเข้มแข็ง เพราะ “สงขลาดูแลกัน”

   สวัสดีครับ เรื่องเล่าพลังชุมชน ฉบับนี้ “สุชน” จะชวนไปเยี่ยมชมเมืองซิงกอรา เมืองเก่าที่ชาวอาหรับเปอร์เซียเรียกขานในอดีต หรือจังหวัดสงขลาในปัจจุบันนั่นเองครับ เมืองนี้น่าอยู่มาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว จวบจนถึงยุคโควิด-19 ระบาดหนัก คนที่นี่เขาก็ยังอยู่ร่วมกัน ส่งต่อและเกื้อกูลกัน จากยุคสู่ยุค จากชนชาติหนึ่งสู่ชนชาติหนึ่ง จากชาติพันธุ์หนึ่งสู่หลากหลายชาติพันธุ์ด้วยเอื้ออาทรกันและกัน โดยผมจะพาไปไขความลับวิถีพหุวัฒนธรรมแบบชาวสงขลากันนะครับ
 
   พี่แม-ดนัย โต๊ะเจ มุสลิมจากต่างพื้นที่หอบอาชีพการงานมาลงหลักปักฐานบนแผ่นดินเกิดของภรรยา
พี่นุช-สุรัตสา โต๊ะเจ โดยบุกเบิกทำ Hostel “บ้านในนคร” มาได้ 5 ปีแล้ว โดยปรับปรุงจากบ้านเก่าอายุร้อยกว่าปีที่มีประวัติและเจ้าของผู้ครอบครองต่อกันมามากกว่า 3 ตระกูล

 
   พี่เอ๋-ปกรณ์ รุจิระวิไล คนเชื้อสายจีนรุ่นใหม่ที่กลับมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเพื่ออยู่ร่วมกับคนรุ่นอากงอาหม่าได้อย่างผสมกลมกลืน

 
   พี่หนู-พรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการ “สงขลาฟอรั่ม” องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานขับเคลื่อนหลายมิติ ทั้งเชิงสังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งเด็กและเยาวชน ผ่านการใช้เครื่องมือแทบทุกประเภท เพื่อสร้าง “จิตสำนึกพลเมืองในโลกยุคใหม่” ในโครงการ “สงขลาส่องแสง”
 
   พี่เชาว์-สถาปนิกอาสา คนสงขลานาทวี ที่เข้าใจหัวจิตหัวใจคนย่านเก่าสงขลา จนออกแบบสรรพสิ่งจากสิ่งที่มีในอดีต ข้าวของทุกอย่างมีประวัติและประวัติศาสตร์ การเรียงร้อยเรื่องราวให้น่าสนใจ
 
   น้องน้ำนิ่ง-อภิศักดิ์ ทัศนี กลุ่ม Beach for Life เด็กรุ่นใหม่ที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้นกับหาดสมิหลา
 
   ทั้ง 6 คน ต่างมีฝัน และเดินทางตามฝันของตนเอง จนได้มาใช้ชีวิตเป็นคนสงขลาที่ดำรงชีวิต
ในอัตลักษณ์ รูปแบบ และวิถีตามแบบฉบับที่แตกต่างกันของแต่ละคน จนกระทั่งเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาเยือนทั่วทุกประเทศ ทุกคน ทุกธุรกิจ ทุกชุมชนล้วนได้รับผลกระทบกันถ้วนทั่ว

 
   การรวมพลังกันเพื่อรับมือกับสถานการณ์ครั้งนี้ได้เกิดขึ้นอย่างงดงามมากครับ โดยใช้ความเอื้ออาทร เกื้อกูล ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมใช้ประโยชน์ในการเยียวยาพัฒนาคุณภาพชีวิตในชุมชน
 
   เริ่มจาก พี่แม-พี่นุช ผู้มีฝีมือดีปลูกผักปลูกหญ้าริมรั้ว Hostel “บ้านในนคร” ได้งอกงามมาก และ
ได้ปลูกเพื่อเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนรอบบ้าน ให้คนในชุมชนนำไปทำอาหารการกินในแต่ละวัน และขยายเป็น
“ตู้แบ่งปัน” หน้า Hostel “บ้านในนคร” เอื้ออาทรกันในชุมชน บางวันบางมื้อยังชักชวนมากินข้าวร่วมกันแบบ “ข้าวหม้อแกงหม้อ” ใครมีอะไรก็หิ้วติดไม้ติดมือกันมาแบบไม่ต้องมีการนัดแนะกันก่อนล่วงหน้า จนวงเริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และสามารถรวบรวมขุนพลหลักทั้ง 6 คนได้อย่างเหนียวแน่น จึงใช้บริเวณหน้ามัสยิด บ้านบน ศูนย์รวมจิตใจของพี่น้องชาวมุสลิมในจังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่สาธารณะในการร่วมทำกิจกรรม เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนในภาวะวิกฤติ และได้ขยับขยายเป็น “สวนแบ่งปันชุมชนมัสยิดบ้านบน” ที่กลายเป็นแหล่งรวมผู้คนทั้งเด็กเล็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ทุกศาสนาทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม และผู้คนในชุมชนเข้ามาร่วมกันรดน้ำพรวนดิน จัดกิจกรรมแบ่งปันสุขอย่างสร้างสรรค์ในหลายรูปแบบที่สวนแบ่งปันแห่งนี้
 
   แม้กระทั่งรั้วของสวนแบ่งปันก็มาจากกระเบื้องของมัสยิดบ้านบน ที่ช่วยกันออกแบบ ช่วยกันเรียงช่วยกันวาง ภาพบนผนังอันโดดเด่นสวยงาม พร้อมคำว่า “Modesty” หรือ “ความพอประมาณ” ก็มาจากการร่วมกันคิด ช่วยกันเลือก ช่วยกันวาด ช่วยกันระบายสี เรียกว่า ถ้าไม่รักกันจริงคงไม่ได้รูปแบบนี้ สวนแบบนี้
เป็นแน่ เพราะทุกคนล้วนมีอัตตา และมีอัตลักษณ์ของตัวเองที่แตกต่างกันไป

 
   สวนแบ่งปันชุมชนมัสยิดบ้านบนแห่งนี้ จึงกลายเป็นพื้นที่สาธารณะในการรวมพลังผู้คนที่มาช่วยกันสร้างการตื่นรู้ของพลังพลเมืองพหุวัฒนธรรมอย่างกลมกลืน เป็นสวนที่ปลูกไมตรีอย่างเบิกบานและงอกงามด้วยน้ำใจของชุมชน สวนที่ผู้คนร่วมกันรดน้ำพรวนดิน ให้พืชผักเป็นสื่อเชื่อมการแบ่งปัน จุนเจือกันตามพลังที่มี เกื้อกูลกันในทุกวันของชุมชนบ้านบน เพราะ “สงขลาดูแลกัน” สดชื่นรื่นใจจริง ๆ ครับ แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ