ชุมชนบางบอนรวมใจ พัฒนาสุขภาวะแบบไม่แบ่งแยก

ชุมชนบางบอนรวมใจ พัฒนาสุขภาวะแบบไม่แบ่งแยก

ชุมชนบางบอนรวมใจ พัฒนาสุขภาวะแบบไม่แบ่งแยก

ชาวชุมชนบางบอนรวมใจ ขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาวะคนบางบอน ป้องกัน ควบคุมโรคโควิด-19 และจัดมาตรการเยียวยาคุณภาพชีวิตของคนทั้งชุมชน โดยไม่แบ่งแยกกลุ่ม เชื้อชาติ ศาสนา พร้อมต่อยอดยกระดับเป็นธรรมนูญสุขภาพระดับเขต เพื่อสุขภาวะและสังคมดี

   สวัสดีครับ ชาวชุมชนเข้มแข็งทุกท่าน เรื่องเล่าพลังชุมชนฉบับที่แล้ว “สุชน” ได้เล่าถึงความคึกคักของแกนนำจากกว่า 60 ชุมชน ในพื้นที่ 10 เขตของกรุงเทพมหานคร ที่ร่วมกันถอดบทเรียนความสำเร็จ
จากการขับเคลื่อนมาตรการชุมชนสู้ภัยโควิด-19 เพื่อยกระดับสู่ธรรมนูญสุขภาพระดับเขตพื้นที่ 12 เขตไปแล้ว ฉบับนี้ผมขอพาไปดูพื้นที่ปฏิบัติงานจริงที่มีรูปธรรมความสำเร็จ ที่ชุมชนบางบอน กรุงเทพมหานครกันครับ

 
   ผมได้พบ พี่กรกฤต ปรีชาวณิชวงศ์ ประธานชุมชนบางบอนรวมใจ เล่าให้ฟังว่า เขตบางบอน
เป็นพื้นที่รอยต่อกับจังหวัดสมุทรสาคร ทำให้มีบริบทที่แตกต่างจากเขตพื้นที่อื่น ๆ ของกรุงเทพมหานคร เพราะชุมชนมีความหลากหลายมาก มีทั้งชุมชนจัดตั้ง ชุมชนที่อยู่ร่วมกันแบบไม่ได้จัดตั้ง และชุมชนกลุ่มแรงงานต่างชาติ ในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ชุมชนบางบอนรวมใจกัน ใช้หลักการ “บวร” คือ บ้าน วัด โรงเรียน จัดการสถานการณ์วิกฤติ เริ่มจากสำรวจสภาพปัญหา สำรวจกลุ่มเปราะบางในชุมชน แล้วจึงนำข้อมูลมาวางแนวทางดำเนินงาน โดยได้ประสานความร่วมมือกับเขตบางบอน และภาคเอกชน

 
   ที่สำคัญยิ่งคือได้รับพระเมตตาจาก สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆ
ปริณายก ทรงประทานเมล็ดพันธ์พืชผักสวนครัวเพื่อส่งเสริมเรื่องความมั่นคงทางอาหาร นำมาปลูกเพื่อเป็นวัดนำร่องการปลูกผักปลอดสารพิษ ซึ่ง พระครูปรีชาวุฒิกร เจ้าอาวาสวัดบางบอน ได้นำมาปลูกเมล็ดพันธ์พืชผักสวนครัวมาปลูกที่ “ไร่ตะวันรุ่ง” ภายในบริเวณวัด และส่งเสริมโครงการ “ชุมชนศีลห้า” เพื่อเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตของชุมชนด้วย ผลผลิตที่ได้ก็นำไปแจกจ่ายในชุมชนและเป็นวัตถุดิบให้กับครัวกลางปรุงเป็นอาหารให้ทุกคน ทั้งพี่น้องในชุมชนจัดตั้ง ชุมชนไม่จัดตั้ง และแรงงานต่างชาติ เพราะแนวคิดการทำงานของชุมชนบางบอนรวมใจ คือ การเกื้อกูลช่วยเหลือชาวชุมชนทุกคนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยประกาศเป็นคำมั่นของชุมชนร่วมกันว่า “ต้องทำและดูแลทั้งหมดไม่แบ่งแยก” ทุกคนจึงได้รับการดูแลทั่วถึงทั้งอาหารและถุงยังชีพเลยครับ

 
   พี่วีรยา สุพรรณคง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ศูนย์บริการสาธารณสุข 65 รักษาศุข บางบอน บอกว่า เขตบางบอนเป็นพื้นที่พิเศษที่มีแรงงานต่างชาติทั้งพม่า เขมร ลาว และชาติต่าง ๆ ภาษาจึงเป็นเรื่องสำคัญในการทำงาน การสื่อสารเรื่องปัญหาสุขภาพกับกลุ่มแรงงานต่างชาติจึงต้องใช้การสื่อสารผ่านล่าม ซึ่งมีทั้งผู้นำของกลุ่มแรงงานและนายจ้างช่วยทำหน้าที่เป็นล่ามให้ รวมถึงการใช้ Application translate เพื่อสื่อสารกับกลุ่มแรงงานต่างชาติ และใช้แผ่นพับเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ ที่สำนักอนามัยและสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานครสนับสนุนมา เผยแพร่ให้กลุ่มแรงงานต่างชาติตระหนักถึงการดูแลสุขภาพและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งพี่วีรยาบอกว่าได้ผลดีมากเลยครับ
 
   ความงดงามของพลังชุมชนที่บางบอน เกิดจากความร่วมมือทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน เกิดสังคมแห่งการแบ่งปันช่วยเหลือกัน เกิดจิตอาสาในชุมชน เกิดผู้นำหน้าใหม่ของชุมชน การเข้ามามีส่วนร่วมของเยาวชนจากโครงการ To be Number One คนในชุมชนมีความรัก ความเข้าใจ ใส่ใจดูแลตนเอง ครอบครัว และชุมชน มีความรู้และการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปตามวิถี New Normal ซึ่งพี่น้องยังยึดถือปฏิบัติ
อย่างเข้มแข็งมาจนถึงปัจจุบัน

 
   พี่ ๆ บอกผมว่า ถอดบทเรียนกันมาแล้ว พบว่า ปัจจัยความสำเร็จนี้เกิดจากปัจจัยภายใน คือ ความเข้มแข็งของคณะกรรมการชุมชนและพี่น้องในชุมชนที่ให้ความร่วมมือ การสื่อสารอย่างต่อเนื่อง ทรัพยากรและสถานที่พร้อม ส่วนปัจจัยภายนอก คือ ความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวัด สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข 65 รักษาศุข ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม ของเขตบางบอน ตำรวจ กศน. โรงเรียน นโยบายของภาครัฐ งบประมาณ รวมไปถึงความช่วยเหลือจากบริษัทห้างร้านเอกชนทั้งในและนอกพื้นที่
 
   พี่กรกฤต เล่าต่อว่า ก้าวต่อไปของการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาวะคนบางบอนเพื่อยกระดับเป็นธรรมนูญสุขภาพระดับเขต นั้นจะใช้พื้นฐาน “ชุมชนศีล 5” ที่เป็นแนวทางการใช้ชีวิตของคนในชุมชน เพื่อให้เกิด “สังคมดี” เป็นพื้นฐานที่ทุกคนปฏิบัติในชีวิตปกติ โดยธรรมนูญสุขภาพระดับเขตต้องสะท้อนสิ่งที่คนในชุมชนต้องการ สอดคล้องและครอบคลุมทุกด้าน ที่สำคัญต้องทำได้จริง
 
   พี่ปาณิสรา เนตรธารธร หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม เขตบางบอน เล่าถึง เป้าหมายสุดท้ายที่มุ่งหวัง คือ “การทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี” ทั้งกาย ใจ และมีความสุข สามารถอยู่ได้
แม้ต้องเผชิญวิกฤติและเกิดการเรียนรู้ไปพร้อมกับปัญหา การพัฒนาธรรมนูญสุขภาพระดับเขตจะต้องมาจากความต้องการและความเข้าใจของภาคประชาชนอย่างแท้จริง ทุกภาคส่วนจึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุดเพื่อให้เกิดความยั่งยืน บูรณาการกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อเรียนรู้สิ่งดีดีที่เกิดขึ้น และเชื่อมโยงระดับเขตไปสู่ภาพใหญ่ของกรุงเทพมหานครให้เป็นเนื้อเดียวกันให้ได้
ผมฟังแล้วก็ชื่นใจจริง ๆ แล้วพบกันใหม่ฉบับต่อไปครับ