จากกลุ่มออมสัจจะเพื่อชีวิตมั่นคง กองทุนสวัสดิการวันละบาท สู่คุณภาพชีวิตชุมชนวังทองหลางยั่งยืน

จากกลุ่มออมสัจจะเพื่อชีวิตมั่นคง กองทุนสวัสดิการวันละบาท สู่คุณภาพชีวิตชุมชนวังทองหลางยั่งยืน

จากกลุ่มออมสัจจะเพื่อชีวิตมั่นคง กองทุนสวัสดิการวันละบาท สู่คุณภาพชีวิตชุมชนวังทองหลางยั่งยืน

น้องในชุมชนเขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร นำฐานทุนชุมชนที่ร่วมกันดำเนินการมานานหลายปี ทั้งกองทุนกลุ่มออมสัจจะเพื่อชีวิตมั่นคง และกองทุนสวัสดิการวันละบาทมาพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพ สร้างความมั่นคงทางอาหาร พร้อมรับมือสู้ภัยโควิด-19 เตรียมต่อยอดสู่สวัสดิการชุมชนและกองทุนอาหารอย่างยั่งยืน เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินหรือวิกฤติในอนาคต

    สวัสดีครับ ชาวชุมชนเข้มแข็งทุกท่าน เรื่องเล่าพลังชุมชน “สุชน” ฉบับนี้ ผมขอพาไปชื่นชมความเข้มแข็งของชุมชนเมืองกลางมหานครกันบ้างครับ ที่เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่รูปธรรมความสำเร็จในการพัฒนาชุมชนเมืองที่น่าติดตามมากครับ
 
   ผมได้พบกับนักปฏิบัติและพัฒนาตัวจริง พี่สมจิตร บังทอง ประธานเครือข่ายพัฒนาที่อยู่อาศัยบนพื้นที่ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และรองประธานสภาองค์กรชุมชนวังทองหลาง ที่เล่าให้ผมฟังว่า งานพัฒนาชุมชนในพื้นที่เขตวังทองหลางไม่ใช่เรื่องใหม่เลยนะครับ แต่ขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2546 แล้ว โดยเริ่มจากโครงการบ้านมั่นคง ซึ่งเป็นการพัฒนาเชิงกายภาพ จนสำเร็จผล จากนั้น เมื่อชาวชุมชนได้แรงบันดาลใจจากกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จันทบุรี ซึ่งมีพระครูสุวรรณโพธิวรธรรม(มนัส ขฺนติธฺมโม) เป็นแกนนำ จึงจุดประกายความคิดให้พี่สมจิตรและชาวชุมชนเริ่มจัดตั้ง กองทุนกลุ่มออมสัจจะเพื่อชีวิตมั่นคง โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือพี่น้องในชุมชนกันเอง ให้สมาชิกออมเงินคนละ 100 บาทต่อเดือน
 
   กองทุนกลุ่มออมสัจจะเพื่อชีวิตมั่นคงของเขตวังทองหลาง เริ่มแรกจากสมาชิกเพียง 14 คน
มีเงินกองทุนเริ่มต้น 4,700 บาทเท่านั้นครับ ผ่านมา 10 ปี จนถึงปัจจุบัน มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 500 คน และ
มีเงินกองทุนอยู่ที่ 4,000,000 บาท แล้วครับ กองทุนฯ จึงเป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงพี่น้องใน 40 ชุมชนของเขตวังทองหลางให้ได้ใช้ประโยชน์ สามารถนำไปจัดสรรเป็นสวัสดิการกองทุนให้สมาชิกกู้ยืม และมีเงินปันผลคืนให้กับสมาชิกด้วย โดยแต่ละชุมชนจะมีคณะกรรมการกองทุนที่บริหารจัดการร่วมกับคนในชุมชนเอง ตั้งแต่ร่วมกันร่างข้อปฏิบัติ กฎกติกา และจัดหาสวัสดิการที่เหมาะสมกับชุมชนของตน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องกันเองในชุมชนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำที่สามารถผ่อนได้ระยะยาว เห็นไหมครับว่า กองทุนฯนี้ สามารถช่วยเหลือคนในชุมชนกันเองได้จริง ๆ

 
   ต่อมาพี่น้องในชุมชนก็เริ่มขยับขยายมาทำเรื่องคุณภาพชีวิตในมิติอื่น ๆ เพิ่มเติม ซึ่งก็คือเรื่องเศรษฐกิจและการส่งเสริมอาชีพ เรื่องความมั่นคงและการเข้าถึงอาหาร เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญหนึ่งของชุมชนเมืองครับ โดยได้มีการจัดตั้ง กองทุนสวัสดิการวันละบาท ส่งเสริมการปลูกผักในพื้นที่ว่างข้างบ้าน เพื่อแบ่งปันกันกิน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย กลไกในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ก็คือคณะทำงานชุมชนที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้วนั่นเองครับ โดยเขตวังทองหลางจะใช้วิธีทำงานโดยประสานกับแกนนำแต่ละพื้นที่ เพื่อประสานต่อไปยังชุมชน หนุนเสริมให้มีการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการส่งเสริมอาชีพและการสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชนร่วมกันทั้งเขต
 
   ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เขตวังทองหลาง ยังเป็น 1 ใน 10 เขตพื้นที่ กรุงเทพมหานคร ที่ได้เข้าร่วมจัดทำธรรมนูญชุมชนสู้ภัยโควิด-19 เพราะเห็นโอกาสในการช่วยเหลือพี่น้อง
ในชุมชน โดยได้ภาคีร่วมปฏิบัติการทั้งจากสำนักงานเขต สถานีตำรวจในพื้นที่ ภาคธุรกิจเอกชน แกนนำหน้าใหม่ และมีหลายองค์กรร่วมสนับสนุนครับ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข สปสช. พอช. สสส. และ สช.

 
   การขับเคลื่อนเริ่มจาก 6 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนรุ่งมณีพัฒนา เก้าพัฒนา เทพลีลา น้อมเกล้าร่วมสามัคคี และทรัพย์สินเก่า ที่มีการกำหนดมาตรการทั้งการป้องกันควบคุมและการฟื้นฟูเยียวยาครับ เช่น การเปิดครัวกลางแจกข้าวกล่อง ทำหน้ากากผ้า ทำเจลล้างมือ ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงปลา สำรวจข้อมูลชุมชน
เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด และจัดตั้งศูนย์ประสานงานกลางโควิด

 
   ผลสำเร็จของการรวมใจสู้ภัยโควิด-19 ทำให้ชุมชนเห็นความสำคัญในการป้องกันและควบคุมให้ปลอดภัยจากโรค และยังทำให้ชุมชนลดรายจ่าย ไม่ขาดแคลนเรื่องอาหาร รวมถึงทำให้รู้ข้อมูลผู้ที่ได้รับผลกระทบในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง และกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ ด้วย
 
   ชุมชนวังทองหลางไม่หยุดเพียงเท่านี้นะครับ แผนงานต่อไปคือเขาจะต่อยอดไปสู่การขับเคลื่อนเรื่อง สวัสดิการชุมชน ให้สำเร็จและพร้อมเป็นพื้นที่เรียนรู้ให้กับพื้นที่อื่น ๆ ที่สนใจ และจะจัดทำเรื่อง กองทุนอาหาร ที่เน้นการปลูกผัก เลี้ยงปลา พัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยเริ่มจากการตั้งคณะทำงานในเรื่องนี้
อย่างชัดเจน มีการทำแผนและบริหารจัดการ รวมถึงวางแผนการจัดการอาหารร่วมกันในระยะยาวและนำไปสู่การปฏิบัติร่วมกันทั้งเขตเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินหรือวิกฤติอื่นที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต ชาววังทองหลางไม่หยุดพัฒนากันเลยนะครับ เยี่ยมจริงๆ แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ