“จากทุนสังคมเข้มแข็ง สู่บันทึกข้อตกลงประชาคมตำบลบ่อแก้ว”

“จากทุนสังคมเข้มแข็ง สู่บันทึกข้อตกลงประชาคมตำบลบ่อแก้ว”

ชุมชนตำบลบ่อแก้ว อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน ใช้ทุนความเข้มแข็งทางสังคมจากกระบวนการธรรมนูญสุขภาพตำบล และโอกาสจากการทำงานร่วมกับ พชอ. จัดทำบันทึกข้อตกลงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ใส่ใจแม้งานศพก็ต้องปลอดโรคปลอดภัย

พบกันเป็นฉบับที่ 3 แล้วนะครับ ฉบับนี้ “สุชน” ขอพาทุกท่านขึ้นไปแอ่วเหนือบ้างนะเจ้า
น่านไงครับ... ผมจะพาไปที่ตำบลบ่อแก้ว อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นอำเภอขนาดกระทัดรัด มี 4 ตำบล 48 หมู่บ้าน มีประชากรเพียง 14,000 คนเท่านั้น และทั้ง 4 ตำบลมีความเข้มแข็งของชุมชนมาก ๆ หลักฐานคือ ทั้ง 4 ตำบล ของอำเภอนาหมื่นได้จัดทำธรรมนูญสุขภาพตำบลกันเรียบร้อย ครบทุกตำบลเลยนะครับ และด้วยทุนความเข็มแข็งทางสังคมนี้เอง ที่ชุมชนได้นำไปต่อยอดร่วมแรงร่วมใจป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในสถานการณ์วิกฤตินี้
ไม่เพียงเท่านั้น ความเข้มแข็งของชุมชนยังเพิ่มเติม พัฒนามาจากการได้ร่วมทำงานแบบไร้รอยต่อกันทั้งอำเภอ โดย พี่นนทชา มานะวิสาร นักวิชาการสาธารณสุขอำเภอนาหมื่น เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ คือ กลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ หรือ พชอ. มีการพูดคุยร่วมกันว่า อำเภอนาหมื่นของเราจะมีแนวทางการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ของภาคประชาชนที่เป็นไปตามแนวทางและคำแนะนำของหน่วยงานรัฐได้อย่างไร โดยได้เชิญผู้แทนจากทุกตำบลมาหารือกันเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 จากนั้นแต่ละตำบลก็กลับไปที่ฐานที่มั่นของตน ไปหารือกันต่อในระดับตำบล
แต่วันนี้ ผมขอพามาที่ตำบลบ่อแก้ว ตำบลเดียวก่อนนะครับ
จริง ๆ แล้ว พี่นนทชา กระซิบให้ผมฟังว่า ชุมชนบ่อแก้วเขาเริ่มคิดทำปราการปกป้องชุมชนกันเองมาก่อนแล้วครับ เพราะแกนนำของตำบลบ่อแก้วมีความตื่นตัวในเรื่องนี้อยู่แล้ว ได้มีการจัดเวทีประชาคมตำบลก่อนที่ พชอ. เชิญไปพูดคุยด้วยซ้ำไป โดยกำนันตำบลบ่อแก้ว พี่เดช ธิเขียว และนายกเทศมนตรีตำบลบ่อแก้ว พี่อาคม เจริญภักดี ได้จัดเวทีพูดคุยกันในตำบล เพื่อให้พี่น้องบ่อแก้ว มีความรู้และตระหนักในการเฝ้าระวังและป้องกันภัยจากโควิด 19 ในที่สุด ก็สามารถจัดทำเป็นบันทึกข้อตกลงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประกาศเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 ให้ทุกคนในชุมชนถือปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน เป็นการรวมพลังร่วมของท้องที่ ท้องถิ่น อสม. บ้าน วัด โรงเรียน ประชาชนตำบลบ่อแก้ว และหน่วยงานรัฐทั้งระดับตำบลและอำเภอนาหมื่นอย่างแท้จริงเลยครับ
ชาวบ้านบ่อแก้วคุยกันเยอะนะครับว่า เนื้อหาของบันทึกข้อตกลงฯ จะเป็นอย่างไร ตัวอย่างชัด ๆ หลังจากชาวบ้านคุยและตกลงร่วมกันก็คือ งานที่ชาวบ้านในชุมชนต้องมารวมตัวชุมนุมกันเยอะ ๆ เช่น งานบวช งานแต่ง งานรื่นเริงต่าง ๆ ก็มีคำสั่งงดไปหมดแล้ว แต่งานที่ห้ามไม่ได้คือ งานสีดำ เรื่องคนจะตายนี่ห้ามกันไม่ได้จริง ๆ
นะครับ โจทย์ของชาวบ้านบ่อแก้วคือ จะช่วยกันทำให้งานสีดำเป็นงานที่ปลอดโรคปลอดภัยได้อย่างไร โดยแนวปฏิบัติก็จะต้องสอดรับกับแนวปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องของระยะห่างทางสังคม
ข้อตกลงจึงระบุให้ เจ้าภาพงานศพที่ปกตินิยมจัดงานที่บ้าน แต่เมื่อบ้านงานมีพื้นที่จำกัด อาจจะคับแคบ ขอให้ไปจัดงานที่วัดแทน สวดอภิธรรมไม่เกิน 2 วัน จัดเก้าอี้นั่งระหว่างกันต้องห่างเกิน 1 เมตร มีอ่างล้างมือในบริเวณงาน งดพวงหรีด ของเรือนทานหรือเฮือนตาน ซึ่งเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลก็ให้จัดหาของสำเร็จ
จากร้านค้า งดการเลี้ยงอาหารว่างและการประกอบอาหารเลี้ยงแขก ทั้งเจ้าภาพและชาวบ้านที่มาร่วมงานต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกคน แม้แต่พิธีกรรมทางสงฆ์ก็ยังเปลี่ยนแปลงไปด้วยครับ เช่น ขอให้มีผู้แทนทอดผ้าบังสุกุล วางดอกไม้จันทน์เพียงคนเดียว การถวายปัจจัยให้เจ้าภาพเป็นผู้ถวายชุดเดียว งดการเวียนรอบเมรุ กำหนดการฌาปณกิจเป็นเวลา 14.00 น. เป็นต้น
ข้อตกลงฯ นี้ได้เริ่มนำไปปฏิบัติในงานสีดำของชุมชนบ่อแก้วแล้วนะครับ เจ้าภาพงานแรกที่เริ่มนำไปใช้ยังได้ขอให้ทาง สสอ. และ พชต. ประเมินรูปแบบการจัดงาน การป้องกันและควบคุมโรคโควิด 19 ด้วยครับ ซึ่งเสียงตอบรับไปในทางบวกว่าจัดงานได้ดี มีความเป็นระเบียบ มีความปลอดโรค ปลอดภัยมาก ๆ ครับ
ชุมชนบ่อแก้วเข้มแข็งจริงๆนะครับ ไว้ฉบับหน้าผมจะพาไปภาคไหน อย่าลืมติดตามนะครับ