“บึงกาฬ จังหวัดปลอดโควิด สร้างฐานอาหารชุมชน ข้าวน้ำซ้ามปลา”

“บึงกาฬ จังหวัดปลอดโควิด สร้างฐานอาหารชุมชน ข้าวน้ำซ้ามปลา”

ชุมชนที่บึงกาฬได้รวมพลังกันสู้ภัยโควิด 19 โดยใช้ฐานทุนชุมชนที่มีความเข้มแข็งจากการร่วมกันพัฒนา ผ่านกลไกสภาองค์กรชุมชนที่ พอช.สนับสนุน และหน่วยจัดการของ สสส. ต่อยอดขยายผลสู่โมเดล “บึงกาฬปลอดโควิด สร้างฐานอาหารชุมชน ข้าวน้ำซ้ามปลา” เพื่อนำพาประชาชนรอดจากวิกฤติอย่างยั่งยืน

สวัสดีเพื่อนพี่น้องชุมชนคนเข้มแข็งทุกท่านครับ เรื่องเล่าพลังชุมชนสู้ภัยโควิด 19 วันนี้มาถึงฉบับที่ 7 แล้วนะครับ วันนี้ผมชวนไปดูว่าทำไม “บึงกาฬ” จึงสามารถยืนเป็น 1 ใน 9 จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยโควิด19 เลยแม้แต่คนเดียว และยังจะเป็นพื้นที่ที่ดำเนินงานโดยการสนับสนุนร่วมกันของ 2 จาก 12 องค์กรภาคีเครือข่ายที่ประสานมือกันขับเคลื่อนงาน “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติกู้ภัยโควิด19” ด้วยครับ โชคดีที่พาผมให้มารู้จักกับ พี่จินตนา เกตุพิมล จากสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง และเป็นหน่วยจัดการหรือ NODE สสส. จังหวัดบึงกาฬ และได้ทราบว่า เป้าหมายของจังหวัดบึงกาฬ คือ “บึงกาฬเมืองปลอดโควิด” ซึ่งปัจจุบันก็เป็นจังหวัดเดียวในภาคอีสานที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด 19 สักคน ปรบมือให้เลยครับ พี่จินตนา เล่าตัวอย่างให้ฟังถึงการทำงานที่เข้มแข็ง ของ 5 ชุมชน ใน 4 ตำบล ได้แก่ ชุมชนท่าดอกคูณ ชุมชนบ้านนาเจริญ ชุมชนบ้านดอนแก้ว ชุมชนบ้านหอคำ และชุมชนบ้านนาคำ ที่นอกจากจะรณรงค์และต่อสู้กับโควิด 19 แล้ว ทั้ง 5 ชุมชน ยังมองยาวไปถึงเรื่อง การสร้างฐานอาหารชุมชน หรือที่ชาวอีสานเอิ้นว่า “ข้าวน้ำซ้ามปลา” แปลว่า “ข้าวปลาอาหาร” ด้วย การทำงานของทั้ง 5 ชุมชนเป็นการทำงานผ่านสภาองค์กรชุมชน ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และโครงการผลิตผักปลอดสารเคมี ของ สสส. ซึ่งชุมชนร่วมทำงานกับทั้ง 2 หน่วยงานนี้มานานพอควรแล้ว วันนี้เรามาดูกันว่าแต่ละชุมชนทำอะไรกันบ้างครับ เริ่มที่ชุมชนแรก ชุมชนบ้านท่าดอกคูณ ภายใต้สภาองค์กรชุมชนตำบลท่ากกแดง อำเภอเซกา ชุมชนมีความเข้มแข็งพัฒนางานหลายด้าน เช่น งานซ่อมสร้างที่อยู่อาศัยให้กับคนยากไร้ งานกองทุนสวัสดิการชุมชน และเน้นการทำงานชุมชนเพื่อจัดการตนเองในการดูแลสุขภาพและสภาพแวดล้อมของชุมชน โดยมีพี่ทักษิณา วินโรจน์ อสม. คนขยัน พาชาวบ้านทำโครงการปลูกผักปลอดสารเคมี นอกจากสุขภาพดีแล้วยังช่วยลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องด้วย ชุมชนจึงไม่ขาดแคลนข้าวปลาอาหารเลย แม้อยู่ท่ามกลางสถานการณ์ โควิด 19 แถมยังต่อยอดคิดค้นอาหารที่เสริมภูมิต้านทานโรคโควิดอีกด้วยนะครับ ถัดมาคือ ชุมชนบ้านนาเจริญ และ ชุมชนบ้านดอนแก้ว ภายใต้สภาองค์กรชุมชนตำบลคำนาดี อำเภอเมืองบึงกาฬ มีแกนทำงานคือ พี่พวงเพ็ญ นันทอง ประธาน อสม. หมู่ที่ 3 บ้านนาเจริญ และผู้ใหญ่เพ็ชร แสนสีมนต์ ผู้ใหญ่บ้านดอนแก้ว หมู่ที่ 5 สองชุมชนนี้ปลูกผักกินเองและยังแบ่งปันให้กับครัวเรือนอื่น ๆ ผักที่เหลือก็นำมาขายสร้างรายได้ ปลูกและใช้พืชสมุนไพรพื้นบ้านเป็นยาป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ จึงเป็นชุมชนตัวอย่างของการดูแลและการจัดการสุขภาพด้วยตนเอง ทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ไปต่อกันที่ ชุมชนบ้านหอคำ โดยสภาองค์กรชุมชนตำบลหอคำ อำเภอเมืองบึงกาฬ ร่วมมือกับทีม แกนนำ พี่มาลัย ธนสาร แกนนำสตรี ครูสุวรรณี นามวงค์ พี่อุสา สารพันลำ แกนนำกลุ่มท่องเที่ยว ผู้ใหญ่ประสิทธิ์ นาหอคำ ผู้ใหญ่บ้านดีเด่น สท. วรจักษ์ เสมียนสิงห์ สท.อาทิตย์ ชัยจันทรา สท.คนรุ่นใหม่ พี่โสภณ ทีหอคำ แกนนำและปราญช์ชาวบ้าน ผู้ช่วยฯ ขันทอง ขุนพิทักษ์ ผู้ช่วยฯ ประดิษฐ์ พงษากลาง และทีมงานที่เข้มแข็งอีกหลายคน ร่วมกันจัดประกวดอาหารพื้นถิ่นสมุนไพรต้านโควิด 19 ที่ขยายผลมาจากการขับเคลื่อนโครงการปลูกผักปลอดสารเคมี ซึ่งมีพี่น้องชาวบ้านเข้าร่วมโครงการกว่า 80 ครัวเรือน ทำให้ชุมชนปลูกผักเอง กินเอง และขายผักเอง เป็นการสร้าง “ฐานอาหารปลอดภัย เมืองอุดมสมบูรณ์ด้วย ข้าวน้ำซ้ามปลา” อย่างแท้จริงที่สุดเลยครับ ปิดท้ายที่ ชุมชนบ้านนาคำ โดยสภาองค์กรชุมชน ตำบลศรีสำราญ อำเภอพรเจริญ มีทีมขับเคลื่อนระดับจังหวัดทั้งขบวนองค์กรชุมชนจังหวัด หน่วยจัดการของ สสส. และแกนนำชุมชนบ้านนาคำ ผู้ใหญ่ภานุพงษ์ เลิศสงคราม ร่วมกันพัฒนาศักยภาพทีมแกนนำชุมชนที่เข้มแข็งและทำงานร่วมกับภาครัฐจนเกิดผลงาน เช่น การดูแลผู้ด้อยโอกาสในชุมชนโดยการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 การร่วมกันคิดค้นเครื่องดื่มที่ทำจากผักปลอดสารเคมีที่ปลูกเองในชุมชนเพื่อต้านหวัด ลดไขมัน เบาหวาน ความดัน ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ของชุมชน เมื่อชุมชนเริ่ม รพ.สต. อปท. สนใจและให้การสนับสนุน ชาวบ้านจึงมีกำลังใจ คิดเอง ลงมือทำเอง และเกิดผลงานที่สามารถจับต้องได้อีกมากมาย ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวดีดีของชุมชนที่ผมเก็บมาเล่าเพื่อเป็นกำลังใจให้กัน และยังเป็นตัวอย่างของชุมชนที่มองไกลไปถึงอนาคตที่ยั่งยืนหลังผ่านสถานการณ์ครั้งนี้ด้วยนะครับ พบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดีครับ