“ชุมชนคนปากน้ำโพ สู้ภัยโควิด19”

“ชุมชนคนปากน้ำโพ สู้ภัยโควิด19”

ที่เมืองปากน้ำโพ มีชุมชน 7 ตำบล ใน 6 อำเภอ ได้บูรณาการทุนของชุมชน ทั้งการจัดทำธรรมนูญสุขภาพชุมชน เชื่อมกับกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น กองทุนสวัสดิการชุมชน เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนตื่นรู้สู้โควิด 19 ไปด้วยกันอย่างมีพลัง และยังจะเป็นเครื่องมือสร้างคุณภาพชีวิตของชุมชนในอนาคตด้วย

   สวัสดีเพื่อนพี่น้องชุมชนคนเข้มแข็ง เรื่องเล่าพลังชุมชน สู้ภัยโควิด 19 ฉบับนี้ “สุชน” จะพาไปเมืองต้นกำเนิดของแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นประตูสู่ภาคเหนือ ใช่แล้วครับ เมืองปากน้ำโพ นครสวรรค์ นั่นเอง
 
   พี่วิสุทธิ บุญญะโสภิต รองผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 3 และ ประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครสวรรค์ เล่าจุดเริ่มต้นของการสู้ภัยโควิด19 โดยชุมชนคนปากน้ำโพว่า เมื่อต้นเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ทีมสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครสวรรค์ ทีมสร้างเสริมสุขภาพคนนครสวรรค์ และสมาคมพัฒนาชุมชนยั่งยืน ได้ชักชวนแกนนำและจิตอาสามาพูดคุยกันถึงการสนับสนุนบทบาทของชุมชน ในการป้องกันภัยจากโควิด19 ซึ่งพบว่ามีกว่า 10 ชุมชนที่สนใจอยากเริ่มลงมือปฏิบัติการ
 
   ผมลองตามไปดูตัวอย่างที่บ้านหูกวาง หมู่ที่ 2 ตำบลหูกวาง อำเภอบรรพตพิสัย โดยได้คุยกับ น้อง อภัชยา กลั่นเกตุวิทย์ อสม. คนเก่ง ที่บอกว่าหลังจากการประชุมซึ่งช่วยจุดประกายความคิด และกระตุ้นพลังในการทำงานมาก จึงได้ไปชักชวน พี่อุไร เพชรรัตน์ ผอ.รพ.สต.บ้านหูกวางมาเป็นแนวร่วมสำคัญ ชวนกันหารือต่อกับพี่น้องในชุมชน โดยเริ่มจากคุยกับผู้ใหญ่บ้าน อสม. คณะกรรมการหมู่บ้าน ตัวแทนชาวบ้าน โดยมีพี่วิสุทธิเป็นพี่เลี้ยงที่คอยสนับสนุนข้อมูล และยังแนะนำให้เชื่อมโยงมาตรการชุมชนที่จะเกิดขี้นกับกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลด้วย
 
   ใช้เวลาไม่นานนัก ชุมชนหูกวางก็ได้ร่างธรรมนูญสุขภาพ แต่ด้วยช่วงนี้ต้องเว้นระยะห่างทางกาย จึงไม่สามารถทำประชาคมเพื่อรับฟังความเห็นต่อ ร่าง ธรรมนูญสุขภาพได้ จึงปรับไปใช้รูปแบบการประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสาย ติดป้ายประกาศ และได้พี่ ๆ อสม.ในแต่ละคุ้มช่วยสื่อสารและรับฟังความเห็นจากคุ้ม ของตัวเอง จนสามารถปรับปรุงเนื้อหาธรรมนูญสุขภาพให้ถูกใจและเหมาะสมกับพี่น้องบ้านหูกวาง และเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2563 จึงประกาศใช้ “ธรรมนูญชุมชนบ้านหูกวางหมู่ที่ 2 ว่าด้วยมาตรการป้องกันไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) พ.ศ. 2563” โดย ผู้ใหญ่บ้านสมชาย โรจน์บุญส่งศรี ลงนามในประกาศ
 
   เนื้อหาสาระของธรรมนูญชุมชนหูกวางเน้นมาตรการเว้นระยะห่าง เมื่อออกจากบ้านหรือใช้บริการรถโดยสารสาธารณะต้องใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง โดยมีจุดคัดกรองหน้ารพ.สต.หูกวาง ให้ อสม. คอยดูแลติดตามรับยาแทนผู้สูงอายุ ร้านค้าในชุมชนต้องมีเจลล้างมือหรือมีจุดล้างมือให้บริการ ในร้านให้มีป้ายย้ำเรื่องการเว้นระยะห่างเวลาจ่ายเงิน และป้าย “ก่อนเข้าร้านใส่หน้ากากนะคะ”
 
   ในกรณีที่มีคนกลับจากพื้นที่เสี่ยงหรือต่างประเทศ ต้องรายงานตัวกับคณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านและรพสต. โดย อบต. หูกวางรับดูแลเรื่องข้าวปลาอาหารให้ตลอดระยะเวลากักตัว 14 วัน และมี อสม. ช่วยติดตามช่วงกักตัว ไม่เผยแพร่ข่าวสารเป็นเท็จ งดจัดงานบุญยกเว้นงานศพซึ่งก็ต้องแจ้งผู้ใหญ่บ้านก่อน เพื่อให้ อสม. ตั้งจุดคัดกรองและจัดเตรียมเจลล้างมือ เรียกว่ามาตรการเข้มข้นสุดๆ และทราบว่าขณะนี้กำลังขยายผลไปที่ชุมชนบ้านแหลมยางหมู่ที่ 3 ด้วย
 
   นี่เป็นเพียงตัวอย่าง เพราะที่ว่าชุมชนปากน้ำโพเข้มแข็งนั้นก็ไม่ใช่มีที่ชุมชนหูกวางเท่านั้น แต่ขณะนี้มีอีก 7 ตำบล ใน 6 อำเภอ ได้แก่ ต.หูกวาง อ.บรรพตพิสัย ต.หัวดง อ.แกงเลี้ยว ต.โกรกพระ อ.โกรกพระ ต.สายลำโพง อ.ท่าตะโก ต.วังบ่อ อ.หนองบัว ต.บ้านมะเกลือ และต.หนองกรด อ.เมืองฯ จ.นครสวรรค์ ที่ได้ประกาศใช้ธรรมนูญชุมชนสู้ภัยโควิด 19 แล้ว และได้เชื่อมโยงงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นสนับสนุนการดำเนินงานตามธรรมนูญ มีกลไกดำเนินงานคือ สภาองค์กรชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน ศูนย์พัฒนาครอบครัว รพ.สต. ท้องถิ่น ท้องที่ และ อสม.
 
   พี่วิสุทธิ เล่าปิดท้ายกับผมว่า หลังโควิด 19 ผ่านไป ธรรมนูญสุขภาพที่ชุมชนจัดทำขึ้นนี้จะเป็นเครื่องมือช่วยสร้างชุมชนให้เข้มแข็งพร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกมิติต่อไป