คนชะอวดสู้ภัยโควิด19 ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง

คนชะอวดสู้ภัยโควิด19 ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง

ชุมชนตำบลชะอวด อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช บูรณาการ ราษฎร์ รัฐ ร่วมใจ หยุดโควิด 19 ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง คิดค้นนวัตกรรมสร้างครัวชุมชนผ่านระบบออนไลน์ ให้คนตำบลชะอวดอยู่ดีมีกิน ทั้งคนซื้อและคนขาย แถมชุมชนปลอดภัยจากโรคโควิด 19 รูปธรรมเล็ก ๆ แต่ได้ผลชะงัด และกำลังขยับขยายไปสู่การยกร่างเป็น “ธรรมนูญสุขภาพสู้ภัย COVID-19 ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง”

   เรื่องเล่าพลังชุมชนสู้ภัยโควิด 19 ฉบับนี้ ผมนายสุชน ขอพาล่องใต้ ไปเยือนเมืองลิกอร์ หรือจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่อำเภอชะอวดครับ
 
   ที่ผ่านมาอำเภอชะอวดมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 จากกรณีสนามมวยลุมพินี จำนวน 2 คน ทำให้เกิดความวิตกกังวลของพี่น้องในพื้นที่กันมาก แม้ว่าหน่วยงานภาครัฐทั้งระดับจังหวัด และพื้นที่จะใช้มาตรการเข้มงวด และยังกำหนดให้บุคคลภายนอกที่เข้ามาในพื้นที่ทุกคนต้องเข้าสู่มาตรการกักตัว 14 วัน ซึ่ง พี่จันทร์ฉาย เทียมดวงแก้ว ท้องถิ่นอำเภอชะอวด ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เดินหน้าให้ความรู้และทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่อีกแรงหนึ่ง
 
   พี่จันท์ฉายเล่าว่า เมื่อต้นเดือนเมษายน พี่น้องจากแกนสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครศรีธรรมราช สมาคมสื่อชุมชนภาคใต้นครศรีธรรมราช สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สภาองค์กรชุมชนตำบลชะอวด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ท้องถิ่นอำเภอ ผู้อำนวยการโรงเรียนในพื้นที่ ผู้ใหญ่บ้าน กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลชะอวด รวมถึงผู้นำชุมชน อสม. และแกนนำภาคประชาชนได้ชวนกันตั้งวงปรึกษาหาทางสู้ภัยโควิด 19 โดยใช้ฐานทุนที่ชาวชะอวดเคยมีประสบการณ์ในการจัดทำธรรมนูญสุขภาพตำบล “พื้นที่การจัดการน้ำโดยชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” มาแล้วเมื่อปี 2562
 
   “จากต้นทุนเดิมนี้เอง ที่นำมาสู่ประเด็นการหารือคิดค้น การสร้างครัวชุมชนผ่านระบบออนไลน์ เป็นระบบจัดส่งสินค้าการเกษตรจำหน่ายภายในตำบล ให้ทุกครัวเรือนสามารถมีอาหารบริโภคได้จากรอบบ้าน” พี่จันท์ฉายย้ำว่า หากครัวไทยคือครัวโลก ต้องมีอำเภอชะอวดอยู่ในนั้นด้วย
 
   พี่ธิดารัตน์ รัดไว้ เลขานุการสภาองค์กรชุมชน ตำบลชะอวด ได้สนับสนุนการจัดตั้งกลุ่ม “หยุด COVID-19 ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อทำหน้าที่เก็บข้อมูลแหล่งผลิตอาหารในชุมชน ทั้งที่เป็นวัตถุดิบ และบริโภคได้ทันที และตั้งไลน์กลุ่ม “คนชะอวดไม่ทอดทิ้งกัน” รวบรวมผลผลิต โพสต์ขายอาหาร ผัก ปลา ในกลุ่มไลน์ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้แก่คนในชุมชน แม้ในช่วงแรก ๆ จะมีสมาชิกเพียง 10 กว่าคน แต่ปัจจุบันมีสมาชิกทะลุ 100 คนไปแล้วครับ
 
   วิธีการนี้ทำให้พี่น้องตำบลชะอวด ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบวิถีเดิมจากการเร่ขายหรือขายในตลาด มาเป็นการผลิตตามคำสั่งซื้อ นัดแนะการซื้อขาย ส่งสินค้า และมีตัวแทนอาสาทำหน้าที่ส่งสินค้าไปยังครัวเรือนต่าง ๆ โดยใช้การสื่อสารผ่านกลุ่มไลน์ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมาตรการสร้างระยะห่างทางสังคม (Social distancing) และนอกจากการซื้อขาย แลกเปลี่ยนอาหารปลอดภัยแล้ว ยังเริ่มขยายไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการเกษตร และสื่อสารข่าวสารของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับโควิด 19 ให้สมาชิกได้รับทราบกันด้วยนะครับ
 
   นี่เป็นเพียงหนึ่งรูปธรรมเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งคนชะอวดกำลังช่วยกันขยายผลไปสู่การยกร่างเป็น “ธรรมนูญสุขภาพสู้ภัย COVID-19 ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ได้ข่าวมาว่าจะประกาศใช้เร็วๆ นี้
 
   ประกายความคิดจากการลงมือปฏิบัติจริงของคนตำบลชะอวด กำลังถูกนำไปสู่การหารือเพื่อขยายผลต่อในเวที Kick Off “ปักหมุดพื้นที่ปลอดภัย” ของคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน(กขป. เขต 11) และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เมื่อวันเสาร์ที่ 25 เมษายน และยังมีการนำเสนอในระบบฐานข้อมูล C – Site Report และออกรายการกินอยู่รู้รอบ ทางช่อง ThaiPBS ด้วยครับ
 
   นับว่า ตำบลชะอวดเป็นพื้นที่บูรณาการการทำงานของประชาชน ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งมหาดไทย สาธารณสุข สปสช. พอช. สสส สช. ไทยพีบีเอส สภาองค์องคกรชุมชน กขป.เขต 11 และสมาคมสื่อชุมชนภาคใต้ เรียกได้ว่าเป็นการ “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด19” อย่างแท้จริง”
 
   เพราะเป้าหมายคือ คนชะอวด ไม่ทอดทิ้งกัน น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หยุดโควิด19 “สุชน” ขอยกนิ้วให้เลยครับผม พบกันใหม่ฉบับหน้านะครับ