สช. สานพลัง ‘รัฐ-เอกชน’ พัฒนาระบบข้อมูลผู้ป่วยโควิดประเทศไทย ติดอาวุธชุมชน-พิสูจน์ตัวตน ‘กลุ่มคนตกหล่น’

สช. สานพลัง ‘รัฐ-เอกชน’ พัฒนาระบบข้อมูลผู้ป่วยโควิดประเทศไทย

สช. สานพลัง ‘รัฐ-เอกชน’ พัฒนาระบบข้อมูลผู้ป่วยโควิดประเทศไทย ติดอาวุธชุมชน-พิสูจน์ตัวตน ‘กลุ่มคนตกหล่น’

สช. ผนึกภาคียุทธศาสตร์ “รัฐ-เอกชน” บันทึกความร่วมมือ “พัฒนาระบบข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19” หวังติดอาวุธชุมชนให้เท่าทันสถานการณ์ ยกระดับมาตรการเฝ้าระวัง-ควบคุมโรค ช่วยเซ็ตอัพระบบการส่งต่อผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบข้อมูลฯ เห็นชอบ แนวทางการพิสูจน์ตัวตนในกลุ่มบุคคลที่ไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ว่าด้วยการทำงานร่วมกันในการบูรณาการเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขึ้นเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบข้อมูลของผู้ป่วยโควิด-19 ระบบการติดตามเฝ้าระวังและควบคุมโรค รวมถึงการส่งต่อผู้ติดเชื้อ เพื่อเข้าสู่การดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พบว่าการระบาดในชุมชน โดยเฉพาะชุมชนแออัดและชุมชนของแรงงานข้ามชาติ มีข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน ที่ทำให้การควบคุมโรคทำได้ลำบากและไม่ทันสถานการณ์ ดังนั้นการมีระบบข้อมูลที่ดีเพื่อใช้ในการติดตามและเฝ้าระวังย่อมช่วยได้มาก ซึ่งไม่เพียงแต่การติดตามและเฝ้าระวังโรค หากแต่ยังเชื่อมต่อไปยังการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงทีด้วย

สำหรับการลงนามร่วมมือกันครั้งนี้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการเรื่องระบบข้อมูลของผู้ป่วยโควิด-19 ให้เป็นไปตามนโยบายธรรมาภิบาลของภาครัฐ และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญที่การติดตามเฝ้าระวัง ควบคุมโรค และส่งต่อผู้ติดเชื้อเพื่อการดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

รศ.ดร. ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (สวข.) กล่าวว่า ข้อมูลเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ในชุมชน โดยภาครัฐต้องให้บริการข้อมูลหลัก เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนที่จะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือกับภาคประชาสังคม ที่สำคัญคือต้องมีการเชื่อมโยงการทำงานกับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และระบบ Co-link รวมถึงบูรณาการข้อมูลกับกรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมการแพทย์ ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนบริหารจัดการโควิด-19 ได้ง่ายขึ้น

นพ.อนันต์ กนกศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้เราเห็นช่องว่างในการดูแลสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะในชุมชน และภาคส่วนที่อยู่นอกระบบบริการของภาครัฐ จึงมีความจำเป็นต้องจัดทำระบบข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงชุมชน กลุ่มเปราะบาง กลุ่มต่างด้าว คนไร้สิทธิ ฯลฯ เพราะการเชื่อมโยงจะช่วยให้เกิดการแบ่งปันและสนับสนุนข้อมูลระหว่างกัน

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะประธานกรรมการพัฒนาระบบข้อมูลสนับสนุนการควบคุมโรคโดยชุมชน เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบข้อมูลฯ เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบเรื่องการพัฒนาระบบการพิสูจน์ตัวตนในกลุ่มบุคคลที่ไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก และกลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มผู้ตกหล่นในชุมชน โดยใช้แนวทางการดำเนินการด้านทะเบียนของระบบข้อมูลสนับสนุนการควบคุมโรคโดยชุมชน ที่เครือข่ายไทยแคร์ได้ดำเนินการด้วยรูปแบบปัจจุบันไปก่อนจนกว่าจะมีการประกาศแนวทางมาตรฐานจากศูนย์เทคโนโลยีและการสื่อสาร ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางต่อไป

“ขณะนี้มีข้อสรุปเรื่องการออกเลขรหัสใหม่ร่วมกับการใช้ภาพถ่ายใบหน้า แล้วซึ่งเป็นไปตามมติของคณะทำงานบริหารจัดการระบบข้อมูลการยืนยันตัวตนคนต่างด้าวและคนไร้สิทธิ์ เพื่อการควบคุมโรคระบาดและการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล เหลือเพียงขั้นตอนการทำช่องทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าใช้งาน และการแจ้งอย่างเป็นทางการของกระทรวงสารณสุข ในเร็วๆนี้ ” นพ.ปรีดา กล่าว

นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาครัฐ ภาคประชาชน ต่างมีการรวบรวมข้อมูล สิ่งที่คณะทำงานได้ร่วมกันคือพยายามผลักดัน ให้เกิดการเชื่อมประสาน เพื่อสร้างเป็นองค์ความรู้ที่จะทำให้ชุมชนสามารถจะจัดการตัวเองได้ โดยชุมชนจะสามารถที่จะรู้สถานะของชุมชน รู้ข้อมูลคนในชุมชน และสามารถปกป้องกลุ่มเปราะบาง คนชายขอบ ให้ได้รับการดูแลที่ดี โดยความร่วมมือครั้งนี้จะยึดหลักการสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ 1. ปกป้องสิทธิ์ของประชาชนทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง คนชายขอบ ที่จะทำให้พวกเขาได้รับการดูแลที่ควรจะได้ 2. การเสริมพลัง ทั้งในระดับบุคคล  และเสริมพลังชุมชน ในการจัดการตัวเอง

นายปรเมศวร์ มินศิริ กรรมการผู้จัดการบริษัทบัณฑิตเซ็นเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ขอบเขตความร่วมมือกันครั้งนี้ สช.ได้มอบหมายให้บริษัท บัณฑิต เซ็นเตอร์ จำกัด ทำการประมวลผล ข้อมูลส่วนบุคคล หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบุคคล ซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคล ข้อมูลส่วนบุคคลด้านสุขภาพประเภทต่าง ๆ รวมถึงข้อมูลการตรวจรักษาของโควิด – 19 บันทึก และรายงานการวิเคราะห์ รวมถึงผลการตรวจสอบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการดำเนินงานนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สำหรับการลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่าง สช. สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ  ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ศทส.) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และบริษัท บัณฑิต เซ็นเตอร์ จำกัด เพื่อพัฒนาระบบข้อมูลของผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อให้การติดตามเฝ้าระวัง ควบคุมโรค และส่งต่อผู้ติดเชื้อเพื่อการดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

กดรับชมวีดิทัศน์