พิจิตรผนึกพลัง “บวร” ร่วมใจ สร้างสังคมสามวัย ไม่ทอดทิ้งกัน

พิจิตรผนึกพลัง “บวร” ร่วมใจ สร้างสังคมสามวัย ไม่ทอดทิ้งกัน

พิจิตรผนึกพลัง “บวร” ร่วมใจ สร้างสังคมสามวัย ไม่ทอดทิ้งกัน

ชาวจังหวัดพิจิตรรวมตัวผนึกพลัง “บวร” นำทุนจากการทำงานพัฒนาอย่างยาวนาน มาร่วมกันสร้าง สังคมสามวัย ไม่ทอดทิ้งกัน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายผู้สูงอายุพิจิตรสุขภาพดี ทั้ง 4 มิติ คือ สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ให้ชุมชนเข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

   สวัสดีครับ ชาวชุมชนเข้มแข็งทุกท่าน วันนี้ “สุชน” จะขอนำเรื่องราวดีดีของเมืองชาละวัน จังหวัดพิจิตร มาเล่าสู่กันฟังครับ ประชาสังคมพิจิตรมีความเข้มแข็งในการพัฒนาชุมชนมานานแล้วครับ ที่นี่เขาใช้ข้อมูลสถานการณ์ปัญหามาตั้งเป้าหมายเพื่อแก้ไขให้ตรงจุด เช่นแต่เดิมมีสถิติของการเป็นพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีทางการเกษตรกันมาก จึงมีการรวมกลุ่มกันสร้างกิจกรรมและรณรงค์ให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในแปลงเกษตร ต่อมาเริ่มมีปัญหาใหม่โดยพิจิตรกลายเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีอัตราผู้สูงอายุต่อประชากรสูงถึงร้อยละ 20.37 ของประชากรทั้งจังหวัด ติดอันดับ 10 ของประเทศไทยเลยครับ คนพิจิตรจึงให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้สูงวัยเป็นพิเศษ แต่วิธีแก้ไขปัญหาขยายไปถึงพัฒนาทั้งจังหวัด น่าสนใจมากเลยครับ
 
   ผมได้พูดคุยกับ พี่สุรเดช เดชคุ้มวงศ์ รองประธานมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร เล่าให้ฟังว่า คนพิจิตรเริ่มเตรียมการรองรับสังคมสูงวัยนานพอควรแล้วครับ โดยมีหลายภาคส่วนร่วมมือกันอย่างแข็งขัน ทั้งชมรมผู้สูงอายุ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุข ฯลฯ โดยชมรมผู้สูงอายุจังหวัดพิจิตร นั้น เริ่มจัดตั้งอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่ปี 2554 ก่อนจะขยายมาเป็น เครือข่ายชมรมผู้สูงอายุจังหวัดพิจิตร มีเป้าหมายร่วมเพื่อพัฒนางานด้านการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนและเตรียมพร้อมการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยสุขภาพดีของจังหวัด โดยได้รับการสนับสนุนบางส่วนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการจัดงานมหกรรมผู้สูงอายุประจำปี และเป็นพื้นที่จัดระบบดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงของ สปสช.ด้วย
 
   ที่สำคัญคือ จังหวัดพิจิตรนั้นมีทุนจากการทำงานพัฒนาที่มีหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนและปักเป้าหมายการพัฒนาของจังหวัดไว้ว่า “ผู้สูงอายุพิจิตรสุขภาพดี เป็นหลักใช้ บวร รวมใจ สร้างสังคมสามวัยไม่ทอดทิ้งกัน ทั้ง 4 มิติ สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม” ซึ่งคำว่า บวร ในที่นี้คือผู้นำของ บ้าน วัด ราชการนะครับ
 
   บ้าน ได้แก่ แกนนำชมรมผู้สูงอายุ อสม. และสภาองค์กรชุมชน
   วัด ได้แก่ เจ้าคณะอำเภอ พระนักพัฒนา

   ราชการ ได้แก่ นายอำเภอ สาธารณสุข นายกเทศบาล อบต. กำนัน

 
   ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 นั้น ชมรมผู้สูงอายุจังหวัดพิจิตร เป็นแกนสำคัญ ในการเตรียมตัวให้กลุ่มผู้สูงวัยในพิจิตรพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาดของโรค โดยใช้ “สังคมสามวัย” ซึ่งก็คือ วัยสูงอายุ วัยแรงงาน และวัยเด็ก เยาวชน มาร่วมสนับสนุนการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด ต้องบอกว่าผู้สูงอายุที่พิจิตรมีความทันสมัยมากครับเขาใช้ระบบออนไลน์เปิดวงพูดคุย แลกเปลี่ยนบทเรียนการทำงานกันผ่านทาง VDO กลุ่มไลน์ของสมาชิกชมรมผู้สูงอายุทั้ง 12 อำเภอ และกลุ่มไลน์ของจังหวัด เป็นการไต่ถามสารทุกข์สุกดิบกับเพื่อนสมาชิกได้งานและคลายเหงาได้ด้วยครับ
 
   ระหว่างการระบาดของโรคนั้น ตลาดนัดขายสินค้าปิดหมด มูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตรเองซึ่งทำงานส่งเสริมการปลูกข้าว ปลูกผักปลอดสารพิษอยู่แล้ว จึงได้ช่วยนำเอาข้าวผักผลไม้ปลอดสารจากกลุ่มผู้สูงอายุและเกษตรกรมาวางขายที่หน้าสำนักงานใจกลางเมืองพิจิตร ช่วยให้ผู้สูงอายุที่ปลูกผักและเกษตรกรในเครือข่ายให้สามารถค้าขายมีรายได้ในภาวะวิกฤติในราคาที่ไม่แพง และยังช่วยให้คนเมืองได้มีข้าว ผัก ผลไม้ ปลอดสารพิษในราคาย่อมเยา นับว่าเป็นเรื่องราวดีดีที่สังคมไม่ทอดทิ้งกัน เมื่อจิตใจดี เศรษฐกิจไปได้แล้ว ก็เชื่อว่าชาวพิจิตรจะสามารถปรับตัว และข้ามผ่านสถานการณ์ที่เลวร้ายไปได้
 
   หลังจากโรคโควิด-19 ระลอกแรกคลายตัวลง... เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ที่ วัดสำนักขุนเณร อำเภอดงเจริญ ได้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียนจากโควิด-19 โดยได้เชิญ “บวร” จากอำเภอและตำบลทุกแห่งมาแบ่งกลุ่มเรียนรู้จุดอ่อน จุดแข็ง และผลกระทบจากโควิด-19 ในมิติของทั้ง สุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และตำบลจัดการตนเอง
 
   จากเวทีนี้ พี่สุรเดช เล่าว่าบทเรียนจากโควิด-19 ช่วยให้ชาวพิจิตรได้เห็นต้นทุนของตัวเองว่ามีความเข้มแข็งในเรื่องของทุนชุมชนด้านกลุ่มสามวัยที่ช่วยเหลือหนุนเสริมกันได้อย่างดี รวมถึงมี พลัง “บวร” ที่มีความสามัคคี เข้มแข็ง เสียสละ สามัคคี โดยนอกจากมาพูดคุยบทเรียนของสถานการณ์โควิด-19 แล้ว ในเวทียังได้วิเคราะห์แนวโน้มเรื่องของสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าด้วย และได้จัดทำ “แผนพระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข” ร่วมกัน โดย ท่านพระครูสิริสุตโสภณ เจ้าคณะอำเภอดงเจริญ คุณอุทิศ วันเต สาธารณสุขอำเภอดงเจริญ พญ. ปัทมา สายสุจริต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลดงเจริญ และกำนันมงคล พุกเปี่ยม ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน เข้าร่วมประชุมด้วย และสรุปข้อตกลงร่วมกันว่า

 
   “เราจะร่วมกันสานพลังผู้นำบวร ร่วมประชุมคิดแผนที่สามารถแก้ปัญหาชุมชนได้จริง ร่วมเรียนรู้ร่วมคิดร่วมทำอย่างต่อเนื่อง” หลังจากเวทีวันนั้นแล้ว ชาวอำเภอดงเจริญ ซึ่งเป็นตัวอย่างพื้นที่หนึ่งของพิจิตรได้สานพลัง “บวร” ต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังว่า พิจิตรจะไม่ใช่เข้มแข็งเพียงแต่เฉพาะช่วงโควิด-19 เท่านั้น แต่ต้องพร้อมที่จะวางกลไกแนวทางร่วมกันเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้ ผมขอเป็นกำลังใจให้นะครับ และจะนำเรื่องราวดีดีของชาวพิจิตรมาเล่าสู่กันฟังอีกแน่นอนครับ