ดูแลแม่อุ้ย ป้ออุ้ยเมืองเชียงฮาย ปลอดภัยจากโควิด-19

ดูแลแม่อุ้ย ป้ออุ้ยเมืองเชียงฮาย ปลอดภัยจากโควิด-19

ดูแลแม่อุ้ย ป้ออุ้ยเมืองเชียงฮาย ปลอดภัยจากโควิด-19

เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงราย เคลื่อนงานตามเป้าหมายจัดทำธรรมนูญชีวิต 3 กลุ่มคนเปราะบางให้ปลอดภัยจากโควิด-19 ในภาวะNew Normal ขยายงานธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุฯ ปรับมาตรการ ข้อกำหนดทางสาธารณสุขให้เป็นรูปธรรมข้อปฏิบัติ เพื่อให้ผู้สูงอายุปลอดภัยอย่างยั่งยืน

   สวัสดีเพื่อนพี่น้องชุมชนเข้มแข็งครับ ฉบับนี้นาย “สุชน” จะพาไปแอ่วเหนืออีกสักรอบนะครับ ขอกลับไปที่เชียงรายอีกครั้ง ก็เครือข่ายสมัชชาสุขภาพเชียงรายเคลื่อนไหวขับเคลื่อนงานกันต่อเนื่องแบบไม่หยุดพักเลยครับ ยิ่งในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งตื่นตัวคึกคักกันมากขึ้นไปอีกครับ
 
   ผมได้คุยกับ พ่อนิรันดร์ แปงคำ ประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงราย ซึ่งเคยพาไปติดตามการประกาศใช้ ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ เพื่อความปลอดภัยจากโรคติดต่อโควิด-19 ในภาวะ New Normal และได้ขับเคลื่อนจนเกิดผลสำเร็จในการดูแลสร้างเสริมสุขภาวะพระสงฆ์สามเณรในหลายพื้นที่ไปแล้ว ทำให้ผมทราบว่า จากการปรึกษาหารือกันในเวทีสมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงราย หน่วยงานองค์กรภาคีเครือข่ายได้กำหนดเป้าหมายที่ตั้งใจทำร่วมกัน โดยจะเป็นการขยายงานจากทุนเดิมคือ ธรรมนูญสุขภาพ 9 ดีวิถีพอเพียง พ.ศ. 2561 ไปจัดทำธรรมนูญชีวิตที่ปลอดภัยจากโรคโควิด-19 ใน 3 กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ธรรมนูญชีวิตพระสงฆ์ ธรรมนูญชีวิตผู้สูงอายุ และธรรมนูญชีวิตคนพิการ และร่วมบูรณาการแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางให้ปลอดภัยจากโรคโควิด-19 ระยะ 3 ปี (2563-2565)
 
   วันนี้พ่อนิรันดร์ชวนผมไปดูกระบวนการยกร่างธรรมนูญสุขภาพของกลุ่มเป้าหมายถัดไปคือกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงรายได้ริเริ่มการดำเนินงานจนสามารถจัดการก่อตั้ง “โรงเรียนผู้สูงอายุ” ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เพื่อจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่ผู้สูงอายุในพื้นที่ และบางแห่งสามารถพัฒนาและจัดทำเป็น “ธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ” ซึ่งใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินชีวิตร่วมกันในชุมชนอย่างมีสุขภาวะ เห็นคุณค่าในตัวเอง อยู่เย็นเป็นสุข เช่นที่โรงเรียนผู้สูงอายุวัดหัวฝาย ตำบลสันกลาง อำเภอพาน ซึ่งมี พระครูปิยวรรณพิพัฒน์ ดร. เจ้าคณะตำบลสันกลาง เขต 2 อำเภอพาน เป็นแกนนำ
 
   สถานการณ์โรคโควิด-19 เป็นเสมือนตัวกระตุ้นให้แกนนำภาคีเครือข่ายเห็นว่า ต้องมีมาตรการดูแลสุขภาพของกลุ่มเปราะบางเพื่อสร้างความปลอดภัยจากโรคโควิด-19 รวมไปถึงโรคติดต่ออื่น ๆ และดูแลคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนเหล่านี้อย่างยั่งยืน จึงเริ่มจัดเวทีรับฟังความเห็นต่อร่างธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ เพื่อความปลอดภัยจากโรคโควิด-19 ณ โรงเรียนผู้สูงอายุวัดหัวฝาย โดยมีหน่วยงานองค์กรภาคีเครือข่าย ที่ทำงานด้านผู้สูงอายุ เช่น สภาผู้สูงอายุ ชมรมผู้สูงอายุ สภาคลังปัญญาสูงอายุ เครือข่ายโรงเรียนสูงอายุ ชมรม อพม. อสม. รพ.สต. รพ.พาน และหน่วยที่ดูแลระบบการดูแลระยะยาว (Long-Term Care) ในพื้นที่เข้าร่วม และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ให้การสนับสนุน
 
   หลังจากนั้นจึงขยายวง ขยายประเด็นหารือไปยังเครือข่ายที่กว้างขึ้น ทั้งเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด เครือข่ายโรงเรียนผู้สูงอายุ สภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด(พมจ.) สาธารณสุขจังหวัด สภาคลังปัญญาสูงอายุ สภาวัฒนธรรมจังหวัด มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กศน. พัฒนาชุมชนจังหวัด เข้าร่วมเวทีเสวนาโครงการพัฒนาโรงเรียนสูงอายุจังหวัดเชียงรายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุสู่สังคมปกติใหม่ (New Normal) พร้อมกับรับฟังความเห็นต่อร่างธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ ให้ปลอดภัยจากโรคโควิด-19 โดยมีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมกว่าร้อยคนเลยครับ เวทีนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย (อบจ.)ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
 
   ในที่สุดธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จังหวัดเชียงราย ปี 2563 ก็ประกาศใช้เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมาครับ เจตนารมณ์สำคัญคือต้องการสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้สูงอายุจากโรคโควิด-19 ด้วยการกำหนดข้อปฏิบัติร่วมที่เป็นแนวทางดำเนินชีวิตของกลุ่มผู้สูงอายุ แนวทางปฏิบัติในการดูแลสุขภาพตนเอง และยังร่วมกันบูรณาการมาตรการ ข้อกำหนดทางสาธารณสุขไปสู่ข้อปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมให้สามารถปฏิบัติได้จริง อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพื่อให้ผู้สูงอายุปลอดภัยทั้งจากโรคโควิด-19 และโรคติดต่ออื่น ๆ รวมถึงได้กำหนดแนวทางการดูแลผู้สูงอายุโดยครอบครัว เครือข่ายในชุมชน แนวทางการสนับสนุนช่วยเหลือจากหน่วยงาน องค์กรในพื้นที่ และแนวทางการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 และปัญหาทางสังคมอื่น ๆ โดยมีกองทุนผู้สูงอายุจังหวัด ของพมจ. กองทุนสุขภาพตำบล ของสปสช. และกองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นทุนทำงาน
 
   สุดยอดไปเลยใช่ไหมครับกับกลยุทธ์การเคลื่อนขบวนการดูแลสุขภาวะในภาวะวิกฤติโควิด-19 ให้กลุ่มคนเปราะบางที่ต้องมีแนวทางปฏิบัติที่เฉพาะเจาะจงและเหมาะสม แบบนี้แม่อุ้ยป้ออุ้ยที่เชียงฮาย เปิ้นก็สุขภาพแข็งแรงนักนักเลยนะเจ้า แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับผม